เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2567 เวลาตั้งแต่ 08.00 – 15.00 น. ณ ห้องประชุม Hall 3 ศูนย์ประชุมสาเกตฮอลล์ จังหวัดร้อยเอ็ด คณะทำงานคิด ปั้น เปลี่ยนดำเนินงานโครงการพัฒนาชุดความรู้ การส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยโดยท้องถิ่น สู่การขยายผลอย่างยั่งยืน ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้จัดกิจกรรม “E-SAN Safe Young Zone โอบฮับด้วยฮัก ถอดรหัสความสำเร็จการขับเคลื่อนการส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย เพื่อการป้องกันในเด็กและเยาวชน” ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
โดยผู้เข้าร่วมมาจากพื้นที่ที่เข้าร่วมดำเนินงาน (นำร่อง) จำนวน 14 พื้นที่ ครอบคลุม 11 จังหวัด ซึ่งเป็นบุคลากร เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมสุขภาพกลุ่มเด็กและเยาวชน งานป้องกันโรคเอดส์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.), บ้านพักเด็กและเยาวชนจังหวัด พร้อมด้วยสภาเด็กและเยาวชน, สำนักงานป้องกันและควบคุมโรค, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อนดำเนินงานร่วมกับโครงการฯ ได้แก่ มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการแบ่งปัน (มสป.), มูลนิธิไทยอาทร, กลุ่มกินรีสีรุ้ง, ห้องสมุดแมวหางกินส์, เครือข่ายสื่อสาธารณะ ThaiPBS และสื่อท้องถิ่นในพื้นที่ รวมประมาณ 200 คน
สำหรับการจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1.) เป็นเวทีช่วยจุดประกายความคิด สร้างมุมมอง แลกเปลี่ยนข้อมูล ข้อค้นพบจากการขับเคลื่อน การส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยเพื่อการป้องกันในกลุ่มเด็กและเยาวชน 2.) ประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ชุดความรู้ และเครื่องมือหนุนเสริมที่พัฒนาขึ้นจากโครงการพัฒนาชุดความรู้การส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยโดยท้องถิ่น สู่การขยายผลอย่างยั่งยืน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) และภาคีเครือข่าย และ 3.) สร้างขวัญและกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงานที่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนของพื้นที่นำร่องทั้ง 14 พื้นที่
ส่วนบรรยากาศภายในงานเป็นไปอย่างคึกคัก เนื่องจากมีหลายองค์กร/หน่วยงาน ได้จัดบูธนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาวะเรื่องเพศ และการส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยเพื่อการป้องกันในกลุ่มเด็กและเยาวชน รวมทั้งมีกิจกรรมให้ผู้เข้าร่วมได้ร่วมสนุกเล่นเกมส์ชิงรางวัล และตอบคำถาม เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้ถุงยางอนามัย นอกจากนี้ก็ได้มีพิธีประกาศเกียรติคุณพื้นที่นำร่องการขับเคลื่อนส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยเพื่อการป้องกันในเด็กและเยาวชน 14 พื้นที่
ในส่วนของเวทีวิชาการ คณะทำงานฯ ได้จัดสานเสวนาเรื่อง “ถอดรหัส ความสำเร็จการส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยเพื่อการป้องกันในเด็กและเยาวชน โดยท้องถิ่น” ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ 1. นางสาววาทินี ทิพจ้อย พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ 2. นางสาวรัตนาวลี ภักดีสมัย พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ จากสาธารณสุขอำเภอจังหาร ร้อยเอ็ด 3. นายวิทวัช ไกรรัตน์ นักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลนาสะแบง อำเภอศรีวิไล จังหวัดบึงกาฬ 4. ครูดวงใจ แพงศรี โรงเรียนบ้านง่อนหนองพะเนาว์มิตรภาพที่ 126 5. นางสาวจุฑามาศ อรรคฮาดศรี ประธานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และ6. นายคมกริช เผ่าวงศ์ษา ประธานกลุ่มกินรีสีรุ้ง จังหวัดสกลนคร โดยคุณวลัยลักษณ์ ชมโนนสูง เจ้าหน้าที่พัฒนาเครือข่ายอาวุโส ThaiPBS เป็นผู้ดำเนินรายการเสวนา
ทั้งนี้ จากสถานการณ์การติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พบว่าอัตราป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นและเยาวชน อายุ 15-24 ปีมีอัตราเพิ่มสูงขึ้น อย่างต่อเนื่อง จากอัตรา 80.8 ต่อประชากรอายุ 15-24 ปี แสนคน ในปี พ.ศ. 2553 เป็นอัตรา 172.3 ต่อประชากรอายุ 15-24 ปี แสน คน ใน พ.ศ.2563 และมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่ประเทศไทยมียุทธศาสตร์ด้านถุงยางอนามัยจัดทำขึ้น ภายใต้ยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ฉบับแรกยุทธศาสตร์ถุงยางอนามัยแห่งชาติ (National Condom Strategy) พ.ศ.2558-2562 และฉบับที่สอง พ.ศ. 2563 – 2573 ซึ่งได้จัดทำขึ้นโดยมีความต่อเนื่องกับยุทธศาสตร์ฉบับแรก และถึงแม้ว่ายุทธศาสตร์ถุงยางอนามัยฉบับแรกจะถูกพัฒนาขึ้นอย่างครอบคลุมแต่ผลการประเมินพบว่า ประเทศไทยยังไม่สามารถดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ฉบับนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันเนื่องจากช่องว่างที่สำคัญบางประการ
จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นทำให้เห็นว่าสุขภาวะทางเพศ (การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย) เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน อายุ 10 – 19 ปี ที่ต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และมีทัศนคติที่ถูกต้องในการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยด้วยการใช้ถุงยางอนามัยที่จะช่วยทำให้เกิดสุขภาวะทางเพศ และหากจะทำให้การดำเนินงานดังกล่าวมีความเข้มแข็ง ต่อเนื่อง สอดคล้องตามยุทธศาสตร์ด้านถุงยางอนามัยได้นั้น ต้องอาศัยหน่วยงาน เครือข่ายภายในจังหวัด โดยเฉพาะในระดับอำเภอ ระดับตำบลเพราะเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญในฐานะระบบสังคมขั้นพื้นฐานที่มีผลต่อคุณภาพชีวิต การดำรงอยู่ของระบบสังคมในชุมชน หมู่บ้าน บุคคล มาร่วมดำเนินงาน
นางสาววาทินี ทิพจ้อย พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า ตนเคยทำงานที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ประมาณ 5 ปี ซึ่งมีโอกาสได้สัมผัสการดำเนินงานและวิถีชีวิตในพื้นที่ ก่อนจะย้ายมาโรงพยาบาลจังหวัดและทำงานด้าน Consulting คือเรื่องของการให้คําปรึกษา ซึ่งเป็นงานเชิงรับ แต่พบว่ามีคนวอล์กอินเข้ามาปรึกษาน้อย ก็เลยคิดว่าในมุมของการทํางานเชิงรับมันไม่พอ จะทำอย่างไรได้บ้างในเมื่อตนเป็นคนในชุมชนคนหนึ่ง
“มารับผิดชอบงานโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในคลินิกรวมเพื่อนโรงพยาบาลบุรีรัมย์ อันนี้ได้มาสัมผัสชีวิตของผู้ติดเชื้อเอชไอวีอย่างลึกซึ้ง จนกระทั่งถึงการติดตามคนไข้ไปในชุมชน ซึ่งเราพอมีคอนเน็คชั่นอยู่ที่ชุมชนบ้าง จึงทําให้เราติดตามคนไข้ได้ไม่ยากมากนักและเข้าใจกระบวนการ” นางสาววาทินี หรือหมออุ้ย กล่าว
นางสาววาทินี ยังกล่าวด้วยว่า หลังจากย้ายเข้าสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทําให้ตนรู้ว่าการทํางานของ สสจ. มันน่าจะเป็นจุดที่สามารถเป็นกลไกสําคัญในการที่จะขับเคลื่อนงานเชิงรุกได้มากกว่าเราเป็นพยาบาล โรงพยาบาล รวมถึงการมีโอกาสได้ร่วมเป็นวิทยากร เกี่ยวกับการบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี (RRTTR) ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ดังนั้น การทํางานต้องอาศัยมิติหลายๆ ด้าน ที่จะทําให้งานมันถึงเป้าหมาย
“พอเป็นผู้รับผิดชอบหลักเราเลยมีโอกาสได้กลับไปชุมชน แล้วเห็นว่า สถานการณ์ในประเทศ ในเขต ในจังหวัด และในพื้นที่เป็นอย่างไร ซึ่งระบบติดตามก็ดีขึ้น คือทําให้เราเห็นความเป็นจริงมากขึ้น ว่าจริงๆ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ไม่หายไปไหนเพียงแค่ไม่ถูกพูดถึง เนื่องจากภาวะหลาย อย่างเช่น โควิด-19” นางสาววาทินี กล่าว
ด้านครูดวงใจ แพงศรี โรงเรียนบ้านง่อนหนองพะเนาว์มิตรภาพที่ 126 กล่าวว่า ตนเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ แต่ว่ามีความรู้เรื่องถุงยางอนามัยมากพอสมควร เริ่มจากตอนแรกก็คือเกิดปัญหาเด็กตั้งครรภ์ในวัยเรียน ปีแรกมี 1 คน ปีที่สอง 2 คน ปีที่สามเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแต่ก่อนพอเด็กตั้งท้องเราก็ต้องให้ออกจากโรงเรียนไปหรือย้ายไปเรียนที่อื่น ตามมติของคณะกรรมการสถานศึกษาของโรงเรียน
พอเกิดปัญหาตรงนี้ขึ้นมา คุณครูก็เลยคิดว่าจะทําอย่างไรดีที่จะไม่ให้เด็กกลุ่มนี้เขาต้องออกกลางคัน หรือเขาต้องออกไปเรียนที่อื่น ถ้าเราเปิดโอกาสให้เขาอยู่ในโรงเรียนโดยที่มีความรู้สึกว่าเขาก็คือคนๆ หนึ่ง เป็นส่วนหนึ่งของสังคมของโรงเรียนโดยที่เขาไม่อาย ก็เลยปรึกษาคณะครูด้วยกัน แล้วทําโครงการการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ในวัยเรียนขึ้นมา และของบประมาณจาก อบต. เพื่อมาจัดอบรมประจำทุกปี โดยมีภาคีเครือข่ายก็คือโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสว่างแดนดิน และสํานักงานสาธารณสุขอําเภอสว่างแดนดิน เป็นวิทยากรมาอบรมให้ ซึ่งผลก็ปรากฏว่าการตั้งครรภ์ในวัยเรียนลดลง แล้วเด็กมีความรู้เรื่องการใช้ถุงยางอนามัย
“ตอนแรกที่ทําคณะครูก็ค่อนข้างกังวลว่า ถ้าเราพูดเรื่องถุงยางอนามัยในโรงเรียนจะไม่เป็นการส่งเสริมให้เด็กไปมีเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้นหรือ แต่อย่างไรก็ดี ถ้าเราไม่พูดเรื่องถุงยางอนามัยกับเด็ก ไม่ให้ความรู้ ไม่สอนในรายวิชาสุขศึกษาหรือคุณครูทุกๆ คนไม่พูดเรื่องนี้เลยเด็กเขาก็มีเพศสัมพันธ์อยู่ดี แต่จะดีไหมถ้าเขาจะมีเพศสัมพันธ์ให้เขาได้ใช้ถุงยางอนามัยได้ถูกวิธี” ครูดวงใจ กล่าว
ครูดวงใจ ยังกล่าวอีกว่า เราก็เลยต้องจับเรื่องนี้มาสอนและบรรจุลงในรายวิชาสุขศึกษา หรืออย่างเช่น คุณครูดวงใจเองสอนภาษาอังกฤษสัปดาห์หนึ่งต่อห้อง 3 คาบ 3 ชั่วโมง เราจะเอาตอนเริ่มต้นของการเรียนการสอนก่อนเรียนภาษาอังกฤษ จะเอาเรื่องถุงยางอนามัยมาพูดด้วย
“ครูก็เลยได้นิยามของคําว่า ถ้าครูสอนภาษาอังกฤษแล้วเธอตั้งใจเรียนตั้งใจฟังเหมือนที่คุณครูพูดเรื่องเพศสัมพันธ์หรือถุงยางอนามัยเนี่ย เธอจะได้เกรด 4 ของครูทุกคน อันนี้ก็เลยเป็นเหตุผลที่ต้องทํามาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันนี้” ครูดวงใจ กล่าว