คลื่นวิทยุชุมชนคนภูหลวง สถานีวิทยุที่ยืนหยัดด้วยเงินผ้าป่ามรดก รธน. 40 เพียงแห่งเดียวของ จ.เลย

หากจะเอ่ยถึงการสื่อสารในยุคนี้ คงจะเป็นแพลตฟอร์มการสื่อสารสมัยใหม่ที่ผูกโยงอยู่กับระบบอินเทอร์เน็ต โลกการสื่อสารบนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มาพร้อมกับความไว เข้าถึงง่าย สะดวก เพียงสัมผัสบนหน้าจอสมาร์ทโฟนก็สามารถรับรู้ข่าวสารได้แล้ว ถึงแม้โลกจะเปลี่ยนแปลงไปารสื่อสารอีกหลายแพลตฟอร์มก็ยังสามารถเข้าถึง และตอบโจทย์การรับรู้ข้อมูลของคนในชุมชนได้ดี และเข้าถึงได้มากกว่าสื่อโซเชียล โดยเฉพาะในสังคมชนบท สื่อวิทยุยังเป็นทางเลือกหลักของชาวบ้านที่ไม่ได้อยู่กับหน้าจอ เปิดฟังในเวลาทำงานได้

วิทยุชุมชนคือหนึ่งในสื่อที่ทำหน้าที่ให้ข้อมูลข่าวสารทั้งเรื่องราวจากภายในสู่ภายนอก และจากภายนอกสู่ภายในให้กับคนในชุมชนมาไม่ต่ำกว่า 20 ปี หลังจากที่เรามีรัฐธรรมนูญ 2540 วิทยุชุมชนได้เกิดขึ้นบนฐานแนวคิดที่ว่า “สื่อชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน” ซึ่งมาพร้อมกับการเรียกร้องถึงสิทธิในคลื่นความถี่เพื่อการสื่อสารของชุมชน ซึ่งจะแตกต่างจากวิทยุกระจายเสียงทั่วไป คือ ไม่แสวงหาผลกำไรในเชิงพานิชย์

สถานีวิทยุชุมชนคนภูหลวง FM 96.5 MHz ต.หนองคัน อ.ภูหลวง จ.เลย

วิทยุชุมชนคนภูหลวง คลื่นชุมชนหนึ่งเดียวของ จ.เลย ที่ยังออกอากาศอยู่

ย้อนไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ในจังหวัดเลยมีวิทยุชุมชนเกิดขึ้นกว่า 153 แห่ง ซึ่งในสมัยนั่นถือว่าเป็นยุคที่วิทยุชุมชนเฟื่องฟูเป็นอย่างมาก มีดีเจหรือนักจัดรายการทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นเกิดขึ้นมานับพันคน หากจะถามคนที่อายุ 30 ปี ขึ้นไปจะต้องรู้จักเป็นอย่างดี สถานีวิทยุชุมชนคนภูหลวงก็เป็นหนึ่งในนั้น เริ่มออกอากาศเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2547 เป็นเวลา 20 ปี ของการยืนหยัด สื่อสารเรื่องราวของชุมชน เพื่อคนในชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ระบบการออกกาศแบบ FM  มีกำลังส่งไม่เกิน 30 วัตต์ เสาสูง 30 เมตร และครอบคลุมพื้นที่ 30 ตารางกิโลเมตร

FM 96.5 MHz คลื่นวิทยุชุมชนคนภูหลวง ตั้งอยู่ที่วัดดอยสวรรค์ บ้านโนนสว่าง หมู่ที่ 6 ตำบลหนองคัน อำเภอภูหลวง จังหวัดเลย มีนักจัดรายการวนเวียนกันมาทำหน้าที่ในรูปแบบจิตอาสาและไม่แสวงหาผลกำไรกว่า 10 คน สลับสับเปลี่ยนกันมาทั้งหน่วยงานสาธารณสุขจากโรงพยาบาลภูหลวง สำนักงานเกษตรอำเภอภูหลวง สถานีตำรวจอำเภอภูหลวง และ อสม.อำเภอภูหลวง พูดคุย แลกเปลี่ยน และประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ หรือแจ้งข่าวสารต่างๆ ให้กับประชาชนในพื้นที่หรือต่างพื้นที่ได้รับทราบข้อมูลข่าวสาร

วิทยุชุมชนคนภูหลวงได้รับรางวัลระดับภาค ประเภทผู้ทดลองออกอากาศประเภทวิทยุกระจายเสียงในระบบเอฟเอ็ม (กิจการบริการชุมชน) จากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2567 ที่ผ่านมา

คุณสมยศ วิปัสสา กล่าวว่า เมื่อ 20 ปีก่อนมีการแข่งขันด้านวิทยุกระจายเสียงกันสูงมากและมักหากำไรในเชิงพาณิชย์ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป การมาถึงของสื่อโชเชียล ทำให้วิทยุชุมชนต่างยกเลิกการออกอากาศกันไปเยอะ ซึ่งในส่วนของจังหวัดเลย มีอยู่ 153 แห่ง และได้ปิดตัวไปแล้ว 152 แห่ง เหลือเพียงแต่ วิทยุชุมชนคนภูหลวง ที่ยังคงออกอากาศอยู่ ซึ่งนับเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว หลายคนอาจจะสงสัยในเมื่อวิทยุชุมชนแห่งนี้ไม่มีรายได้จากหน่วยงานภาครัฐหรือไม่สามารถรับโฆษณาสินค้าต่างๆ ได้ แล้วทำไมยังสามารถดำเนินการออกอากาศได้และไม่ปิดตัวเหมือนสถานีอื่น

ใช้ดอกเบี้ยเงินล้านและงานทอดผ้าป่า เพื่อหาเงินมาบริหารจัดการ

คลื่นวิทยุชุมชนคนภูหลวง ใช้งบประมาณจากดอกเบี้ยของกองทุนหมู่บ้าน หรือ ที่เรียกกันอีกชื่อว่า กองทุนเงินล้าน มาเป็นเงินงบประมาณในการจัดตั้งสถานี เพื่อใช้เป็นสื่อในการเข้าถึงประชาชนได้มากที่สุดและประหยัดที่สุด เกิดการสื่อสารแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ถ่ายทอดความรู้ ศิลปะ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือนำเอาสาระจากกลุ่มองค์กรต่างๆ มาสื่อสารให้ประชาชนทั่วไปได้ทราบ

สถานีวิทยุชุมชนคนภูหลวงอยู่ร่วมกับชุมชน อยู่ในสถานที่ของวัด ก็จะมีการจัดทอดผ้าป่าสามัคคีซึ่งเป็นที่แรกของจังหวัดเลย ที่จัดทอดผ้าป่าสำหรับวิทยุชุมชน นำเงินบริจาค จากคนในชุมชนหรือพื้นที่ใกล้เคียง มาบริหารจัดการในสถานี ทั้งค่าน้ำค่าไฟและค่าภาษี ส่วนเงินที่เหลือก็จะนำไปบริจาคให้กับวัดดอยสวรรค์และเก็บไว้เป็นกองทุนช่วยเหลือสำหรับสมาชิกของสถานีด้วย

ส่วนในกรณีที่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ชี้แจงความก้าวหน้าในการดำเนินการให้วิทยุทดลองออกอากาศซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 3,809 สถานี (ชุมชน 156 สาธารณะ 592 และ ธุรกิจ 3,061 สถานี) ที่ต้องยุติการทดลองออกอากาศหลังวันที่ 31 ธันวาคม 2567 เพื่อเข้าสู่ระบบใบอนุญาต

คุณสมยศ วิปัสสา กล่าวว่า อยากเรียกร้องให้ทาง กสทช. พิจารณาแนวทางใหม่ ซึ่งถึงแม้ว่าสถานีวิทยุที่ขึ้นทะเบียนไว้ทั้ง 3,809 สถานี แต่เหลือที่ออกอากาศจริงๆ ไม่ได้มากถึงขนาดนั้น เช่น วิทยุชุมชนคนภูหลวง ที่ยังคงดำเนินการออกอากาศอยู่ 

“เรายึดมั่นในแนวทาง เป็นสื่อสาธารณะที่ทำงานเพื่อประชาชนและไม่แสวงหาผลกำไรเลย ถ้าหากปิดตัวไปทางผู้บริหารสถานีก็ได้เวลาว่างรวมกลุ่มกันไว้เพื่อทำงานให้กับชุมชนและวัดต่อไป แต่คนที่เสียประโยชน์จริงๆ คือประชาชน เขาจะเสียโอกาสได้รับรู้ข่าวสาร หรือเสียสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ” 

สมยศ วิปัสสา FM 96.5 MHz คลื่นวิทยุชุมชนคนภูหลวง

จึงไม่อยากให้เกิดช่องว่างด้านการออกอากาศเกิดขึ้น แต่ถ้าหากจะเป็นการเข้าสู่ระบบขออนุญาตที่ถูกต้อง ทางวิทยุชุมชนคนภูหลวงก็ยินดีจะปฏิบัติตาม โดยอยากเสนอให้มีการจัดสรรค์คลื่นวิทยุในพื้นที่ไม่ทับซ้อนกัน และอยากให้ภาครัฐ หรือ กสทช. มีงบประมาณมาสนับสนุนให้กับวิทยุชุมชนทุกแห่งด้วย