คันคาก นาค แถน ตำนานการต่อสู้เพื่อแย่งชิงทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำโขง

เมื่อฤดูร้อนอบอ้าวช่วงเดือนเมษายนผ่านพ้นไปก็เข้าสู่ช่วงของฤดูฝน บทความนี้จะชวนสัมผัสกับเรื่องราวเกี่ยวกับฝนฟ้าและความอุดมสมบูรณ์ของภาคอีสาน ผ่านนิทาน “คันคาก” สัตว์มหัศจรรย์ที่ไม่ค่อยถูกกล่าวถึงนักเมื่อเทียบกับสัตว์มหัศจรรย์อื่นในอีสาน เช่น พญานาค ผู้เขียนจะชวนมองการต่อสู้ของผู้มีอำนาจแห่ง “เมืองฟ้า” กับ “เมืองลุ่ม” และธรรมาภิบาลน้ำ และฉายให้เห็นว่า “คันคาก” หรือ “คางคก” มีความสัมพันธ์กับผู้คนในลุ่มแม่น้ำโขง-ลุ่มแม่น้ำชีอย่างยาวนานมากกว่า 3,000 ปี โดยกล่าวถึงพญาคันคาก พญาแถน มนุษย์ และสรรพสัตว์ กับความอุดมสมบูรณ์ของฟ้าฝน รวมถึงฉากสะท้อนการต่อสู้ของ “อำนาจ” จัดการน้ำ และธรรมาภิบาลน้ำ

ตำนาน “คันคาก” สัมพันธ์กับผู้คนลุ่มแม่น้ำโขง-ลุ่มแม่น้ำชี

บางคนอาจมองว่า “ตำนาน” เป็นเรื่องเล่าจากจินตนาการเชื่อถือไม่ได้ แต่การบอกเล่าเกี่ยวกับตำนานในท้องถิ่นไม่เคยเลือนหายไป เรื่องราวที่สังคมสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นเรื่องเล่าที่สำคัญของชุมชนในฐานะประวัติศาสตร์แบบท้องถิ่น การใช้ตำนานเสมือนสัญลักษณ์เพื่อ “ต่อรองอำนาจ” ระหว่างกลุ่มชนในพื้นที่ บทบาทของตำนานถูกแฝงด้วยสัญลักษณ์ที่สำคัญ บุคคลสำคัญ สถานที่สำคัญ หรือตำนานศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ อีกทั้ง ได้รับการสร้างความหมายให้เป็นเครื่องมือของการต่อรองทางสังคมและวัฒนธรรม (สมปอง มูลมณี และปฐม หงส์สุวรรณ, 2561) สุจิตต์ วงษ์เทศน์ (2562) ชี้ให้เห็นว่า พญาคันคาก เป็นนิทานของผู้คนชนเผ่าเหล่ากอตระกูลลาว-ไทย มีหลักแหล่งสองฝั่งโขงแพร่กระจายถึงมณฑลกวางสี ประเทศจีน ซึ่งผู้เขียนพบว่าเรื่องราวเกี่ยวกับคันคากได้ถูกเล่าในลักษณะตำนาน/นิทานพื้นถิ่นอย่างเข้มข้นในพื้นที่ภาคอีสานและลุ่มแม่น้ำชีแถบจังหวัดยโสธร) สุจิตต์ เรียบเรียงและดัดแปลงจากหนังสือ 3 เล่ม ได้แก่ 

เล่มที่ 1 พญาคันคาก (จักรพรรดิคันคากน้อยเล็กพญาแถนหลวง) ชำระและรวบรวมโดย พระอริยานุวัตร (อารีย์ เขมจารี ป.5). จัดพิมพ์โดยศูนย์อนุรักษ์วรรณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. วัดมหาชัย จังหวัดมหาสารคาม. พ.ศ.2513.

เล่มที่ 2 รวบรวมวรรณคดีอีสาน (เล่ม 2). โดย ปรีชา พิณทอง (อดีตพระศรีธรรมโสภณ-ปรีชา ป.ธ.9) อุบลราชธานี 2522.

เล่มที่ 3 พญาคันคาก ปริวัตรและชำระจากหนังสือผูกใบลาน. โดย ผ่าน วงษ์อ้วน เอกสารโรเนียว พ.ศ.2525.

นอกจากนั้น ผู้เขียนสังเขปจาก สุจิตต์ พร้อมกับค้นคว้าข้อมูลจากแหล่งอื่นเพิ่มเติม พบว่า เรื่องราวถูกเล่าแตกต่างกันหลายสำนวน บางสำนวนใช้คำว่า “ท้าวคันคาก” บางสำนวนใช้คำว่า “พญาคันคาก” แต่จุดร่วมที่เหมือนกันคือ กล่าวถึงการกำเนิดของ “คันคากกุมาร” ทารกที่มีร่างกายผิวพรรณเหลืองอร่ามดั่งทองคำ ผิวพรรณขรุขระเหมือนคันคาก สุจิตน์ ชี้ว่า เรื่องราวในตำนานเกิดขึ้น ณ เมืองชมพู โดยมีพญาเอกราชเป็นผู้ครองเมือง และนางสีดาเป็นมเหสีผู้ให้กำเนิดกุมาร สภาพภูมิศาสตร์เมืองชมพูเป็น “เมืองลุ่ม” ที่รายล้อมด้วยคูน้ำและคันดินเป็นปราการอยู่กลางทุ่งราบ มีแหล่งน้ำต่างๆ ได้แก่ ห้วย หนอง คลอง บึง บุ่งทาม ลำธาร และลานลาดพาดผ่าน หากพิจารณาจากภูมิศาสตร์จังหวัดยโสธร ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำชีก็ค่อนข้างสอดคล้องกันกับที่ตำนานกล่าวถึง คือ จังหวัดยโสธรเป็นพื้นที่ราบลุ่มต่ำ ผู้คนใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ได้แก่ ห้วย หนอง คลอง บึง แม่น้ำชี และมีพื้นที่ลุ่มน้ำเรียกว่า “ป่าบุ่งป่าทาม” ที่มีความอุดมสมบูรณ์สำหรับทำนา ปลูกพืช ประมง เลี้ยงสัตว์ และหาของป่า Pengplien (1999) ชี้ว่า ความเชื่อของคนอีสานนิยมวรรณกรรมเรื่อง พญาคันคาก มาใช้เทศน์กันตลอดมา โดยเฉพาะพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการขอฝนเพื่อให้ฝนตกตามฤดูกาลเช่นเดียวกับการแห่บั้งไฟ การเทศน์เรื่องพญาคันคากชาวบ้านจะจัดเป็นพิธีใหญ่เช่นเดียวกับเทศน์ในบุญผะเหวด เริ่มตั้งแต่การจัดสถานที่และนิมนต์พระสวดคาถาปลาค่อ (ปลาช่อน) วันละ 108 จบ 3 วัน (คมกฤษณ์  วรเดชนัยนา และพรพิมล เพ็งประภา, 2564)

เมืองฟ้า – เมืองลุ่ม และความอุดมสมบูรณ์ของฟ้าฝน

เมื่อครั้งนางสีดาคลอดลูก ดินฟ้าอากาศเกิดอาเพศสะเทือนเลื่อนลั่นหวั่นไหว เมฆหมอกมัวมน บนท้องฟ้าบดบังทั้งดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ฟ้าฝนหล่นห่าลงมาเป็นอัศจรรย์ทั้งแผ่นดิน หมอผีทำนายว่า คันคากกุมาร เป็นผู้มีบุญมีอำนาจวาสนา จะเป็นที่พึ่งพิงของบิดามารดาและข้าทาสบริวารตลอดถึงไพร่บ้านพลเมือง…(สุจิตต์ วงษ์เทศน์, 2562) ตำนานพญาคันคากเป็นเรื่องเล่าท้องถิ่นประจำเดือนหก ที่เล่าเชื่อมโยงถึงการต่อสู้ทำสงครามของ พญาคันคาก กับ พญาแถน เพื่อขอฝนบรรเทาความแห้งแล้ง และเชื่อมโยงกับตำนานบุญบั้งไฟ พบว่า ตำนานพญาคันคากถูกเล่าแถบลุ่มแม่น้ำโขงมากกว่า 3,000 ปี เนื้อหาได้ปรับเปลี่ยนดัดแปลง และยังคงถูกเล่าอย่างเข้มข้นในสังคมชาวนาลุ่มแม่น้ำชี (ยโสธร) ในปัจจุบัน 

อย่างไรก็ดี เรื่อง พญาคันคาก ได้กล่าวถึง “เมืองฟ้า” ซึ่งเป็นที่อยู่ของ พญาแถน และ “เมืองลุ่ม” เป็นที่อยู่ของมนุษย์และสรรพสัตว์นานาชนิดรวมไปถึงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พญาคันคาก เกิดมามีรูปร่างและผิวหนังเหมือนคันคาก แต่ด้วยบุญบารมีในฐานะเป็นโพธิสัตว์ที่จะไปเกิดเป็นพระพุทธเจ้า คนเมืองลุ่มจึงเลื่อมใสศรัทธาพญาคันคาก เมื่อพญาแถนล่วงรู้ว่าคนเมืองลุ่มลดความนับถือตนและหันไปเชื่อฟังพญาคันคากมากกว่า พญาแถนจึงไม่ให้พญานาคขึ้นไปเล่นน้ำ ณ เมืองฟ้า ทำให้เมืองลุ่มเกิดความแห้งแล้ง ฝนไม่ตกตามฤดูกาล เป็นเหตุให้พญาแถนกับพญาคันคากสู้รบกัน (อธิปัตย์ วงษ์ยิ้ม, 2558) คำว่า “คันคาก” เป็นภาษาพื้นถิ่นลาวอีสาน หมายถึง “คางคก” สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกผิวหนังเป็นตะปุ่มตะป่ำ มีพิษ และพบเห็นได้ทั่วไปในพื้นที่ภาคอีสาน นอกจากนั้น ชาวยโสธรกล่าวถึงคันคากในตำนานบุญบั้งไฟและสร้างพิพิธภัณฑ์ “พญาคันคาก” ไว้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดในปัจจุบัน

การต่อสู้ของอำนาจและการจัดการน้ำ

ในตำนาน…พญาคันคาก แห่งเมืองลุ่ม ปกครองบ้านเมืองโดยทศพิธราชธรรม เป็นผู้นำที่มีใจเมตตา อ่อนโยน ไม่ถือตัว ได้ท้ารบกับ พญาแถน แห่งเมืองฟ้า เพื่อช่วยเหลือสรรพชีวิตให้มีโอกาสได้มีธรรมชาติกลับคืนมา โดยใช้กลวิธีในการขอร้องสรรพสัตว์ที่ร่วมทัพรบ คือ พญานาค กบ เขียด ต่อ แตน ผึ้ง มด ปลวก ฯลฯ ขณะที่ พญาแถน แสดงตนเย่อหยิ่งถือตัว อวดดี ยกตนข่มท่าน หลงอำนาจ ยึดถือตนเป็นสำคัญจนหลงลืมตน โกรธและโมโหบรรดามนุษย์และสัตว์ที่ไม่ภัคดีต่อตน เพราะหันไปกราบไหว้พญาคันคาก (ประภาพร ธนกิตติเกษม, 2562) พบว่า ในเรื่องเล่าของการต่อสู้พญาคันคากพร้อมกับมนุษย์และสรรพสัตว์ได้รับชัยชนะจากพญาแถน จึงวางเงื่อนไขว่า เมื่อใดที่มนุษย์จุดบั้งไฟขึ้นไปถือว่าเป็นสัญญาณของการเริ่มต้นฤดูกาลเพาะปลูก พญาแถนบนเมืองฟ้าจะต้องส่งน้ำฝนให้กับมนุษย์และสรรพสัตว์ในเมืองลุ่ม ปัจจุบัน จังหวัดยโสธรจะมีประเพณีบุญบั้งไฟเป็นงานประจำปีของจังหวัด ถ้าได้ยินเสียงกบเขียดร้องถือว่าฝนตกแล้ว หรือหากได้ยินเสียงสนูว่าวให้รู้ว่าถึงช่วงของการเก็บเกี่ยวจะต้องหยุดปล่อยน้ำ

นอกจากนั้น ในมิติของการต่อสู้ระหว่างผู้มีอำนาจแห่ง เมืองฟ้า-เมืองลุ่ม เกี่ยวกับการจัดการน้ำและความอุดมสมบูรณ์ สะท้อนภาพของ “อำนาจ” ของผู้คนและสรรพสัตว์แห่งเมืองลุ่มที่อาศัยและมีความสัมพันธ์กับเมืองฟ้า เมื่อใดที่เมืองลุ่มได้รับความเดือดร้อนจากความแห้งแล้ง แต่หากเมืองฟ้าไม่ใส่ใจก็จะนำไปสู่การสร้างความแค้นของผู้คนและสรรพสัตว์และนำไปสู่สงคราม พบว่า พญาคันคากรวบรวมความร่วมมือและการมีส่วนร่วมจากมนุษย์และสรรพสัตว์ที่พึ่งพากันในเมืองลุ่ม อาศัยแหล่งน้ำ และทรัพยากรธรรมชาติร่วมกัน ขณะที่ พญาแถน เป็นผู้กุมอำนาจแห่งเมืองฟ้า ในการเปิด-ปิดแหล่งน้ำ กล่าวคือ หากพญาแถนเปิดให้พญานาคขึ้นไปเล่นน้ำบนเมืองฟ้า หยดน้ำจากการเล่นน้ำของพญานาคจะตกลงมาเป็นฝนให้กับผู้คนและสรรพสัตว์ในเมืองลุ่มได้ใช้ประโยชน์ แต่พญาแถนกลับห้ามไม่ให้พญานาคขึ้นไปเล่น เพราะโกรธที่พญาคันคากได้รับการเคารพมากกว่าตน อีกทั้ง การทำสงครามระหว่าง พญาคันคากกับผู้ร่วมทัพ ต้องต่อสู้และเผชิญกับอำนาจมนต์คาถาของพญาแถนที่แก่กล้ามากกว่า พญาแถนไม่ได้สมทบทัพหรือมีส่วนร่วมกับผู้อื่น แต่ใช้มนต์คาถาปลุกเสกกองทัพสัตว์มีพิษ สัตว์ดุร้าย สัตว์มีเขี้ยว และอาวุธด้วยความพอใจของตน (สมดี จินดาพิษฐาน, 2556 อ้างอิงจาก ประภาพร ธนกิตติเกษม, 2562) 

มุมมองการเมือง อำนาจ และข้อเสนอต่อ “ธรรมาภิบาลน้ำ”

น้ำมีความสำคัญและจำเป็นต่อชีวิตทั้งมนุษย์และสรรพสัตว์ในเมืองลุ่ม ปริมาณน้ำมีผลกระทบโดยตรงต่อความอุดมสมบูรณ์หรือความแห้งแล้ง การควบคุมน้ำโดยพญาแถนแห่งเมืองฟ้าจำเป็นต้องเปิดพื้นที่ของการมีส่วนร่วมให้กับมนุษย์และสรรพสัตว์แห่งเมืองลุ่มใด้มีส่วนร่วมมากขึ้น เพื่อที่จะได้นำน้ำไปใช้ให้เกิดประโยชน์และไม่เกิดความแห้งแล้งที่นำไปสู่ความขัดแย้งและสงคราม ซึ่ง มุมมองน่าสนใจเกี่ยวกับการตีความตำนานพญาคันคากกับอำนาจทางการเมืองการปกครอง ณรงค์ ภูเยี่ยมจิตร และเกียรติศักดิ์ ลาภสาร (2563) ชี้ว่า วรรณกรรมท้องถิ่นสะท้อนให้เห็นลำดับชั้นการปกครอง การเชื่อฟังผู้มีอำนาจ การต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจ กระทั่ง มีการต่อรองและเงื่อนไขการปล่อยน้ำฝน ได้แก่ เสียงบั้งไฟ เสียงกบเขียดร้อง และเสียงสนูว่าว อีกทั้ง การต่อสู้ช่วงชิงอำนาจระหว่าง พญาคันคาก กับ พญาแถน เป็นรูปแบบการช่วงชิงพื้นที่ทางการเมือง (ในสังคมอีสานนอกตำนาน) เช่น การร้องทุกข์ด้านเกษตรกรรม หรือความต้องการฟ้าฝนจากกรมชลประทาน เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่เป็นการเข้าข้างพญาคันคากฝ่ายเดียว ผู้เขียนมีมุมมองเสนอเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดการน้ำของ พญาแถน พญาคันคาก มนุษย์ และสรรพสัตว์ อาจจะต้องให้ความสำคัญกับการปรึกษาหารืออย่างมีส่วนร่วม ทั้งเมืองฟ้า-เมืองลุ่มจะต้องมีธรรมาภิบาลในการจัดการน้ำมากขึ้น ผู้เขียนนำมุมมองเกี่ยวกับ ธรรมาภิบาลน้ำของ ณรงค์และเกียรติศักดิ์ เสนอต่อประชากรทั้งเมืองลุ่มและเมืองฟ้า ดังนี้

  1. ตามหลักนิติธรรม การบริหารจัดการน้ำควรมีการตกลงไว้เป็นลายลักษณ์อักษร มีข้อบังคับ ระเบียบ ซึ่งทั้งพญาแถน พญาคันคาก มนุษย์ และสรรพสัตว์ จะต้องรับรู้และปฏิบัติร่วมกัน 
  2. ตามหลักคุณธรรม พญาแถนจะต้องปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ไม่ว่ามนุษย์และสรรพสัตว์จะรักและเคารพตนหรือไม่ ต้องเปิดให้พญานาคไปเล่นน้ำเพื่อให้เกิดฝนตกตามช่วงฤดูกาล ไม่เลือกปฏิบัติ เพราะการรักและเคารพเป็นเรื่องของปัจเจก แต่การส่งมอบน้ำให้กับเมืองลุ่มเป็นเรื่องของผลกระทบและประโยชน์ส่วนรวม
  3. ตามหลักความโปร่งใส การบริหารจัดการน้ำจะต้องไม่ลำเอียง ไม่ว่ามนุษย์หรือสรรพสัตว์จะนับถือใครก็ตาม การส่งมอบน้ำจะต้องเกิดขึ้นโดยปราศจาคอคติทางการเมืองแอบแฝง เพื่อให้ทั้งมนุษย์และสรรพสัตว์ที่อาศัยอยู่ในลุ่มแม่น้ำโขง-ลุ่มแม่น้ำชี หรือลุ่มแม่น้ำสาขาอื่นๆ ได้รับผลประโยชน์อย่างสูงสุด
  4. ตามหลักการมีส่วนร่วม พญาแถน และ พญาคันคาก ควรเปิดโอกาสให้มนุษย์ และ สรรพสัตว์ ได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำ คือ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจ ไม่ผูกขาดอำนาจการตัดสินใจไว้เพียงผู้หนึ่งผู้ใด 
  5. ตามหลักความรับผิดชอบ สิทธิในการเข้าถึงน้ำของมนุษย์และสรรพสัตว์ควรเท่าเทียมกัน ทุกคนมีส่วนได้ส่วนเสียจากการจัดการน้ำ และต้องมีความรับผิดชอบในการบำรุงรักษาร่วมกัน 
  6. ตามหลักความคุ้มค่า ควรหาแนวทางใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำผิวดินให้คุ้มค่ามากที่สุด เช่น ใช้ประโยชน์แหล่งน้ำต่างๆ ในเมืองลุ่ม คือ ห้วย หนอง คลอง บึง แม่น้ำ บุ่งทาม ในการรองรับน้ำและเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง และปลดปล่อยให้น้ำเป็นอิสระไหลตามธรรมชาติหล่อเลี้ยงผู้คนทั่วทั้งลุ่มแม่น้ำโขง ลุ่มแม่น้ำชี และแม่น้ำสาขาสายต่างๆ ด้วย

อ้างอิง

คมกฤษณ์ วรเดชนัยนา และพรพิมล เพ็งประภา. (2564). พืช : อนุภาคในวรรณกรรมนิทานอีสานกับการศึกษาความหมายเชิงวัฒนธรรม. วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร. 41(6): 41-52.

ณรงค์ ภูเยี่ยมจิตร และเกียรติศักดิ์ ลาภสาร. (2563). รัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ในประเพณีบุญบั้งไฟ. วารสารมหาจุฬานาครทรรศน์. 7(7): 25-38.

ประภาพร ธนกิตติเกษม. (2562). เรื่องเล่าสะท้อนกรรม. วารสาร มจร มนุษยศาสตร์ปริทรรศน์. 5(2): 217-235.

วชิรวิชญ์ ตั้งธนานุวัฒน์. (2566). ข้าว: พืชเศรษฐกิจในยุคสนธิสัญญาเบาว์ริงที่ส่งผลต่อศิลปกรรมในวัดปทุมวนาราม-เวฬุราชิน. วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย. 13(1): 14-25.

สุจิตต์ วงษ์เทศน์. (2562). พญาคันคาก นิทานชาวบ้านลาว-ไทย เรื่องคางคกยกรบขอฝน.เว็บไซต์ https://www.matichonweekly.com/scoop/article_9785. เข้าใช้ข้อมูลเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2567.

สมปอง มูลมณี และปฐม หงส์สุวรรณ. (2561). ตำนานประจำถิ่นทุ่งกุลาร้องไห้: เรื่องเล่าเชิงนิเวศกับการต่อสู้และต่อรองทางสังคมและวัฒนธรรม. มรยสาร. 16(2): 69-92.

อธิปัตย์ วงษ์ยิ้ม. (2558). ระบบจักรวาลทัศน์ดั้งเดิมกับการประกอบสร้างพื้นที่เชิงนิเวศ แบบคู่ตรงข้ามในวรรณกรรมอีสานแนวมหัศจรรย์ ตามความหมายของ เมืองฟ้า – เมืองลุ่ม.วารสารวิถีสังคมมนุษย์. 3(1): 102-123.