ปัญหา “น้ำท่วมซ้ำซาก” ที่ชาวบ้านอยู่ด้วยความเคยชินไป เนื่องจากมองไม่ให้เห็น “ระบบนิเวศใหญ่” ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำและต้นตอของปัญหา การเชื่อมหน่วยงาน การสร้างกลไก และการร่วมกันหาทางออกจะเป็นทิศทางในการออกจากปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก อย่างไรก็ดี ชุมชนไม่ได้นิ่งรอเพียงความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐผ่านนโยบายเพียงอย่างเดียว มีความพยายามของชาวบ้านในการรวมตัวกันและใช้แนวคิด “ธนาคารน้ำ” กับการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการระดับชุมชน ขณะที่ หน่วยงานภาครัฐมีแนวทางในการดำเนินงาน และมีความมุ่งมั่นในการช่วยแก้ไขปัญหากับชาวบ้าน ทุกภาคีเครือข่ายทั้งชาวบ้าน หน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคประชาสังคม และภาควิชาการ ต่างให้ความสำคัญกับกระบวนการการมีส่วนร่วมและการผลักดันขับเคลื่อนให้เกิดกลไก “คณะกรรมการ” สู่การแก้ไขปัญหาและ Success ร่วมกันในอนาคต
ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากที่ชาวบ้านอยู่ด้วยความเคยชินไป
คุณสมชาย ขวัญบุญจันทร์ คณะกรรมการกลุ่มรวมใจไทยสมุทร/ประธานชุมชนไทยสมุทร 3 กล่าวว่า แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเวลาน้ำท่วมโดยการเอากระสอบทรายมากั้น เวลาน้ำท่วมมาทั้งทางออกและทางเข้าจะท่วมหมด ส่งผลต่อการจราจรไปมาลำบาก พื้นที่ต่ำกว่าถนนน้ำจะไหลเข้าบ้าน เป็นปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากที่ชาวบ้านอยู่ด้วยความเคยชินไป บ้านบางหลังมีกลุ่มเปราะบางอาศัยอยู่ เป็นผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่คนเดียว หรือผู้ป่วยติดเตียงอยู่ลำบากมากเพราะไม่มีคนให้ความช่วยเหลือ
ต้องมองภาพ “ระบบนิเวศใหญ่” ต้นน้ำถึงปลายน้ำและต้นตอปัญหา
คุณฐากูร สรวงศ์สิริ หัวหน้าโครงการประชาสังคมร่วมแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง พื้นที่เทศบาลเมืองหนองสำโรง ชวนมองภาพให้เห็นภาพ “ระบบนิเวศใหญ่” ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ปัญหาหลักตอนนี้ คือ ชุมชนในเขตเมืองรองได้รับผลกระทบ หรือเรียกว่า “น้ำท่วมซ้ำซาก” เนื่องจากพื้นที่บางแห่งเป็นแอ่งกระทะรับน้ำ รวมทั้งมีลำ “ห้วยดาน” ไหลมากลายเป็นพื้นที่รองรับน้ำที่ “ดันน้ำ” ออกจากเขตเมือง ทำให้ชาวบ้านต้องอยู่กับน้ำท่วมมาโดยตลอด ซึ่งบางครัวเรือนเป็นครัวเรือนยากจนที่มีสมาชิกอาศัยในบ้านหลายชีวิต ต้องดิ้นรนค่อนข้างสูงในการเอาตัวรอดในช่วงที่น้ำมา
การเชื่อมหน่วยงาน สร้างกลไก และการร่วมกันหาทางออก
คุณฐากูร สรวงศ์สิริ ชี้อีกว่า ฐานคิดสำคัญของโครงการ Success คือ ความต้องการให้พลเมืองที่เป็น “เจ้าของพื้นที่” ได้ลุกขึ้นมาขับเคลื่อนปัญหาของตนเอง และอยากให้มีการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเมืองแบบ “พหุผู้กระทำการ” โดยหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมกันทำ ร่วมกันคิด ร่วมวางแผน ร่วมแก้ไขปัญหา และร่วมเรียนรู้ไปด้วยกัน “โครงการทำให้เกิดการรวมกลุ่มของชาวบ้าน ในทุก ๆ วันชาวบ้านจะมีการรวมกันและรายงานสถานการณ์ ทั้งในช่วงก่อนและหลังน้ำท่วม ชาวบ้านจะรายงานเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่อยู่ตลอด เช่น เกิดสถานการณ์อะไรเกี่ยวกับน้ำขึ้นบ้างในพื้นที่ มีหน่วยงานใดเข้ามาช่วยเหลือ/ช่วยเหลือด้านใดบ้างเหล่านี้ถือเป็นจุดสำคัญ”
แนวคิดธนาคารน้ำกับการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการระดับชุมชน
คุณนฤพล ประยูรเจริญ ประธานกลุ่มรวมใจไทยสมุทร/ประธานชุมชนไทยสมุทร 2 ได้กล่าวถึง พื้นที่มีความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาให้ Success ที่สุดและสำเร็จที่สุด เราขอความอนุเคราะห์รถขุดจากเทศบาล และชาวบ้านช่วยกันระดมขวดพลาสติกขวดแก้ว หินกรวด และการรวมกลุ่มลงแรงช่วยเหลือกันทำธนาคารน้ำ รวมทั้งรวมตัวกันออกรับบริจาคทรายกระสอบมารวมกัน และมีการบริหารจัดการระบบการรับทรายกระสอบโดยการลงชื่อขอจากกลุ่ม
หน่วยงานภาครัฐมีแนวทางในการดำเนินงาน และมีความมุ่งมั่นในการช่วยแก้ไขปัญหากับชาวบ้าน
คุณสมหมาย โคตรโสภา ผู้อำนวยการกองช่าง เทศบาลเมืองหนองสำโรง สะท้อนว่า ระยะสั้นมีการขุดลอกคลองระบายน้ำและล้างท่อ หรือขุดเปิดในจุดเสี่ยงและจุดที่เกิดวิกฤต รวมทั้งสร้างความร่วมมือกับชุมชนในการบริหารจัดการขยะและท่อระบายน้ำบริเวณบ้านและชุมชน ส่วนระยะกลางมีโครงการวางท่อระบายน้ำ โครงการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ และระยะยาวจะขอให้หน่วยงานเชื่อมโยงระบบการระบายน้ำต่อกัน คือ เมื่อมีการสูบมาต้องมีการสูบต่อไป และเป็นสิ่งที่อยู่ในแผน 5 ปี ในการขุดลอกลำห้วยดาน โดยการศึกษาและออกแบบการดำเนินการไว้แล้ว
การมีส่วนร่วมในการเป็นคณะกรรมการผลักดันและแก้ไขปัญหาสู่อนาคตที่ Success
คุณสมชาย ขวัญบุญจันทร์ ชี้ว่า “ชุมชนไม่ค่อยมีปากมีเสียงเมื่อติดต่อหน่วยงานราชการจะไม่ค่อยได้รับความร่วมมือ เมื่อทีมดำเนินโครงการฯ เข้ามาได้นำไปสู่กระบวนการพูดคุยและการแก้ปัญหาเกิดเร็วขึ้น แก้ปัญหาได้ตรงจุดขึ้น” สอดคล้องกับ คุณสมหมาย โคตรโสภา กล่าวว่า “เวลาฝนตกเราต้องพร้อมที่จะไปช่วยชาวบ้าน พร้อมแก้ปัญหาชาวบ้าน โดยเร่งด่วน ด้วยความมุ่งมั่น และความตั้งใจที่จะทำเรื่องการบริหารจัดการน้ำหนองสำโรงให้ถูกใจประชาชนและดีที่สุด ให้ Success มากที่สุด” ซึ่ง คุณฐากูร สรวงศ์สิริ สะท้อนความสำเร็จและการดำเนินงานระยะยาวว่า การที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาจัดการกับปัญหาของตัวเองทำให้เกิดการผลักดันการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะระดับที่ใกล้ตัวมากที่สุด คือ การผลักดันข้อเสนอของชาวบ้านกับ อปท. เทศบาลตำบลหนองสำโรง ในอนาคตหากมีการตั้งคณะกรรมการศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาตรงพื้นที่บริเวณนี้โดยเฉพาะ มีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง มีตัวแทนชาวบ้าน มีตัวแทนภาควิชาการ เข้าไปมีส่วนร่วมในการเป็นคณะกรรมการ พร้อมกับการผลักดันอย่างจริงจังจะเป็นโจทย์สำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง