โลกรวน เกษตรกรวัย 66 ปี ชาว จ.เลย ปรับตัวผลิตอาหารปลอดภัยด้วยปฏิทินเพาะปลูก 12 เดือน

ถึงแม้ว่ากรมอุตุนิยมวิทยาของไทยได้ออกประกาศว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้เริ่มต้นเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเต็มรูปแบบไปแล้วก็ตาม แต่ความกังวลเกี่ยวกับภัยพิบัติและความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับการทำเกษตรนั้นยังคงวนเวียนอยู่ในหัวของเกษตรกรหลายคน สำหรับยงยุทธ ประวัง เกษตรกรผู้ที่อยู่กับการเพาะปลูกพืช ผัก ผลไม้มาตลอดทั้งปี ต่อเนื่องกันมาก็หลายสิบปี ตอนนี้อายุของเขาก็ย่างเข้าสู่วัย  66 ปีแล้ว หากจะพูดถึงประสบการณ์ด้านการเกษตรนั้นเขาเป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่เป็นรองใคร แต่ก็ต้องมากังวลกับสภาวะโลกรวน โลกเดือด ที่อีกสื่อ ตีข่าว ให้ได้ทราบกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

โลกรวน โลกเดือด กระทบอาชีพเกษตรและผู้ผลิตอาหารปลอดภัย

ความเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ ที่จะสงผลกระทบโดยตรงต่อ คน สัตว์ และพืชผลทางการเกษตร ซึ่งบางทีอาจจะเกิดในรูปแบบของสภาพอากาศที่พุ่งสูงขึ้น จากการปกคลุมของคลื่นความร้อนที่สามารถรับรู้ได้โดยทั่วกัน ตัวเลขอุณหภูมิที่พุ่งสูงมากถึง 40 องศา สำหรับสิ่งมีชีวิต นี่คือความอันตราย พืชทนร้อนไม่ได้ แห้งเหี่ยว ทยอยตาย หรือบางครั้งก็ให้ผลผลิตที่ต่ำ แต่ก็นั่นแหละ เรื่องนี้ไม่ใช่พึ่งเริ่มเกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ย้อนกลับไปในปี 2562 และ 2565 เกิดภาวะน้ำท่วมหนักพื้นที่ภาคอีสาน และต่อมาปี 2566-2567 สภาวะฝนทิ้งช่วงยาวนาน ส่งผลให้เกิดภาวะแล้ง และร้อนระอุ ก็ย่อมส่งผลต่อพืช สัตว์และผู้คน โดยเฉพาะในภาคอีสานซึ่งมีพื้นที่ทำการเกษตรสูงสุด มีจำนวนเกษตรกรมากที่สุด ต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า การรู้รับปรับตัว ได้เท่าทันคืออีกหนึ่งหนทางรอดของเกษตรกร และวันนี้ผู้เขียนจะพาไปรู้จักกับเกษตรกรชาวจังหวัดเลย ผู้ที่มีความพยายามตั้งรับ ปรับตัว สู้กับภาวะโลกเดือด โลกรวนนี้มาตลอดเป็นระยะเวลา 5 ปีกว่าแล้ว 

ผักปลอดภัยจากสวนของพ่อยงยุทธ ประวัง เครือข่ายผู้ผลิตอาหารปลอดภัย จ.เลย

ออกแบบ วางแผน เข้าใจฤดูและสภาพอากาศด้วยการทำปฏิทินเพาะปลูก 12 เดือน

พ่อยงยุทธ ประวัง เกษตรกรผู้ผลิตอาหารปลอดภัย บ้านไร่ม่วง อ.เมืองเลย จ.เลย กล่าวว่า ในสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงและความร้อนสูง ปฏิทินการเพาะปลูก คือ การวางแผนเพื่อการเพาะปลูกพืชตลอดระยะเวลา 12 เดือน มีหลักสำคัญที่ต้องเตรียมอยู่ 4 อย่าง คือ การเตรียมเมล็ดพันธุ์ เราต้องรู้ว่าจะปลูกอะไร พืชชนิดไหนปลูกร่วมกันได้ไม่ได้ พืชสายพันธุ์ไหนที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมบ้านเรา ดิน ต้องรู้จักดินว่าเป็นกรดหรือด่าง ดินขาดอะไรเติมอันนั้น ปรับปรุงดินควบคู่กับการใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยหมักปัจจัยหนึ่งในการเพาะปลูกถ้าพืชได้ธาตุอาหารที่ครบถ้วนก็เจริญเติบโตได้ดีแม้ในสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง น้ำหัวใจหลักของการปลูกพืช ต้องดูว่าเราใช้น้ำเพาะปลูกจากแหล่งใดใช้ระบบแบบไหน พืชที่ปลูกต้องการน้ำขนาดไหน ให้น้ำพอดีกับความต้องการของพืช พืชชอบชื้นแต่ไม่ชอบแฉะ ถ้าแฉะพืชจะตายทันที อากาศถ้าร้อนมากก็ให้น้ำเพิ่มขึ้น ความชื้นถึงจะสัมพันธ์กับดินอากาศ คำว่า หงำ ก็จะไม่เกิดขึ้น พ่อยงยุทธ อธิบายขยายความเพิ่มเติมว่า คำว่า หงำ คือ การบังแสงของพืช การปรุงอาหารของพืชต้องเลือกพืชที่อยู่ร่วมกันได้ เวลาขุดแปลงเริ่มขุดจากทางทิศเหนือไปยังทิศใต้ เพื่อไม่ให้พืชโดนแสงตลอดทั้งวัน

แต่ละเดือนปลูกอะไรเหมาะสม ไม่ต้อวกังวลเรื่องสภาพอากาศ

มกราคม-กุมภาพันธ์ ฤดูหนาวแมลงน้อยพืชผักหลากหลาย ชนิดผักที่ปลูกคือผักกินหัวและกินใบ เช่น กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ผักกาดขาวปลี หอมแบ่ง หอมป้อม ต้นหอม แตงกวา มะเขือ ผักกาดแก้ว 

ปลายมกราคม-กุมภาพันธ์ อากาศเริ่มอุ่นนิยมปลูกพืชเถาและพืชยืนต้น มะเขือยาว ถั่วฝักยาว ผักบุ้ง กะหล่ำปลี ต้นหอม แตงกวา ผักกาดแก้ว คะน้า ผักบุ้ง การให้น้ำพืชเถาให้แบบน้ำหยดผีเสื้อคือน้ำออกทั้งสองทางให้หลุมต่อหลุมหญ้าน้อย

กุมภาพันธ์-เมษายน เข้าสู่หน้าร้อนระหว่างวันที่ 10-16 เมษายนคือช่วงตลาดปิดคนไม่ซื้อไม่ขาย พืชผักน้อยปลูกยาก พอมีจำหน่าย เช่น กล้วยไข่ ถั่วฝักยาว ข้าวโพดฝักอ่อน มะเขือ ละมุด 

มีนาคม-เมษายน หน้าร้อนแมลงระบาดเช่น หนอน เพลี้ย ปฏิทินผักหยุดไม่นิยมปลูก เก็บถั่ว ข้าวโพดฝักอ่อน มะเขือยาว ขึ้นช่าย เมษา-มิถุนายน ขายสับประรด

พฤษภาคม-กรกฎาคม พืชไร่และไม้ผล มังคุด สับประรด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

มิถุนายน ย่างเข้าเดือนหกฝนก็ตกพรำ ๆ หน้าฝนเกษตรกรทำนาเป็นหลัก 6-15 วัน หว่านข้าวอีสานเรียกว่าตกกล้า 16- 25 ระยะปักดำ

กรกฎาคม – สิงหาคม ดำนา เข้าสวนเตรียมทำสับประรดนอกฤดู ยางพารา

กันยายน – ตุลาคม ต้นตุลาขยายแปลงผัก บงกระหล่ำ ย้ายต้นกล้า เริ่มหว่านเม็ดผัก เตรียมต้นกล้ากระหล่ำ 

พฤศจิกายน เกี่ยวข้าวแบ่งออกเป็นข้าวอายุสั้น 120 วัน ตัดตอซังข้าว เตรียมแปลงเพื่อปลูกผักและช่วงปลายพฤศจิกายนเกี่ยวข้าวนาปี  ผักและผลไม้ที่นิยมปลูกและออกผลเช่น  กล้วยไข่ คะน้า กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก กวางตุ้งฮ่องเต้ ผักกาดขาว สลัดแก้ว ผักชี 

ธันวาคม ช่วงที่มีผักหลากหลายผักประเภทกินใบ กะหล่ำ ผักกาดขาว ต้นหอม กะหล่ำดอก ถั่ว

ผลผลิตอาหารปลอดภัยตามฤดูกาลปฏิทินเพาะปลูก 12 เดือน

โลกรวน โลกเดือด ปฏิทินเพาะปลูกช่วยได้จริงหรือ ?

การทำปฏิทินเพาะปลูกถ้าจะแม่นยำต้องทำต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ปี เกษตรกรรู้ว่าเวลาไหนที่เหมาะสมในการปลูกพืชแต่ละชนิด กำหนดวันปลูกและวันจำหน่ายได้อย่างแม่นยำ คาดการณ์ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเพื่อเตรียมพร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น รวมถึงรู้ว่าช่วงเวลาการบริโภคผักของลูกค้ามีช่วงไหนบ้าง และต้องปลูกผักอะไร เช่น ช่วงงานบุญกฐิน ปีใหม่ สงกรานต์ “กลุ่มลูกค้าของพ่อคือคนที่กินผักปลอดภัยเท่านั้น”เราไม่ต้องวิ่งหาตลาดเพราะเรารู้ว่ากลุ่มผู้บริโภคของเราคือใครและอยู่ที่ไหน เราจะเห็นความแตกต่างของตลาดและการบริโภคของคน รู้เห็นปัญหาการขายและการตลาด  หัวใจสำคัญของการปลูก คือ “ปลูกที่เรากิน ขายที่คนกิน” กินแล้วผักรสชาติดีไม่มีกลิ่นปุ๋ยยาเก็บได้นาน ลูกค้าจะบอกต่อและโฆษณาให้เอง เราขายตัวเราลูกค้าซื้อเพราะเชื่อมั่นในคนขาย สม่ำเสมอ เมื่อถึงวันและเวลาผู้บริโภคจะรู้ว่าเราต้องมาขายแน่นอน

ปฏิทินเพาะปลูกอาจจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องโลกเดือด โลกรวน ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อย ๆ หากเกษตรกรมีการปรับตัว มีการออกแบบวางแผน สามารถรู้ล่วงหน้าว่าจะปลูกอะไร ใช้น้ำมากน้อยเพียงไร สภาพอากาศเป็นเช่นไร ร้อน ฝน หนาว การลงทุนปลูกพืช ผัก ผลไม้ ก็คงหลีกเลี่ยงผลกระทบ และได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ หากไม่มีการตั้งรับ หรือการปรับตัว ปรับเปลี่ยนวิธีการ รูปแบบใหม่ ๆ เข้ามาช่วยก็คงต้องนั่งยอมรับชะตากรรมที่เกิดขึ้น รอรับผลกระทบที่จะเกิดจากสิ่งที่เราก็สามารถติดตามข่าวสารและมีคำแนะนำเกี่ยวกับการปรับตัวสภาพอากาศจากหลาย ๆ สำนักวิชาการ และสื่อสารมวลชนหลายแขนง ได้ 

พ่อยงยุทธ ประวัง ผู้ผลิตอาหารปลอดภัย จ.เลย

เรื่อง / ภาพ : แสงระวี ดาปะ