สังคมชนบทอีสานเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต โดยเฉพาะการบริโภคที่พึ่งพาระบบตลาดและการเข้ามาของ “รถพุ่มพวง” และแกงถุง ส่งผลให้การประกอบอาหารในครอบครัวเปลี่ยนแปลงไป การหาปลาในทุ่งนาเพื่อบริโภคในครัวเรือนลดน้อยลงกว่าแต่ก่อน รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับวิถีการผลิตข้าว สารเคมี และการอพยพของแรงงานจากหมู่บ้านในชนบทสู่เมืองทำให้คนห่างจากท้องทุ่งนาและการหาอยู่หากิน หรืออื่นๆ อย่างไรก็ดี ชนบทอีสานหลายแห่งยังคงพบวิถีการดำรงชีพแบบดั้งเดิมหลงเหลือ แต่ก็ผสมผสานกับสังคมสมัยใหม่ ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไปนี้ คือ “การใส่เบ็ด” ผู้เขียนได้ลงไปใส่เบ็ด สนทนา และสังเกตการณ์ ซึ่งพบความน่าสนใจหลายมิติ
การใส่เบ็ดยังคงหลงเหลือให้พบเห็นได้ทั่วไปในสังคมชนบทอีสานที่ยังไม่เป็นเมืองมากนัก ในชนบทอีสานหลายแห่งยังคงพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการยังชีพร่วมกัน มีความสัมพันธ์ทางสังคมที่ เอื้อเฟื้อ ยืดหยุ่น และเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน การใส่เบ็ดเป็นวิธีประมงพื้นบ้านแบบไม่ล้างผลาญและไม่ทำลายระบบนิเวศ ปลาที่จับได้มากหรือน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับ “ความหมาน” แม้จะใส่เบ็ดในคันนาของคนอื่นที่มีข้าว แต่ก็ไม่ได้ทำลายต้นข้าว (เคารพข้าวและเจ้าของนา) อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์เชิงบวกที่เกิดขึ้นซึ่งปราศจากความขัดแย้งขึ้นอยู่กับหมู่บ้าน หรือ “เปิงบ้าน” ที่มีความสามัคคีและเข้าใจกัน รวมทั้งสะท้อนทุนทางวัฒนธรรม และทุนทางสังคมของชุมชนนั้นๆ และการอาศัยอยู่ร่วมกันของคนในชนบทอีสานในรูปแบบสังคมเครือญาติ (ยังไม่เป็นสังคมเมือง)
พบอีกว่า กิจกรรมใส่เบ็ดนอกจากจะได้ปลาแล้วยังสะท้อนมิติทางเพศ คือ การใส่เบ็ดส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ผู้หญิงใส่ส่วนน้อยแต่ก็มีบทบาทเป็นคนทำอาหารและจัดการปลามากกว่า ทั้งประกอบเมนู ต้ม ผัด แกง ทอด อุ๊ ตำป่น ปิ้งย่าง แกง หมก ฯลฯ รวมทั้งสะท้อน การหาอยู่หากินของคนในชนบทที่ไม่ได้อยู่ภายใต้เขตคาบคุมของ “อำนาจ” และกฎหมาย (อุทยานและประมง) ชาวบ้านสามารถหาปลาในท้องทุ่งนาได้อย่างอิสระ แต่สำหรับการหาปลาในแหล่งน้ำใหญ่ คือ ลำห้วย อ่างเก็บน้ำ ชาวบ้านจะไม่จับปลาช่วงฤดูวางไข่
ความรู้เรื่อง “เบ็ด” ส่วนใหญ่อยู่กับผู้ชาย
เนื่องจากการใส่เบ็ดบางครั้งต้องออกไปใส่ในพื้นที่ทุ่งนาไกลจากหมู่บ้าน และต้องไป “ยามเบ็ด” ในเวลากลางคืนเพียงลำพังเพื่อไปดูว่าเหยื่อล่อที่ใส่ไว้หมดหรือไม่ การยามเบ็ดจะออกไปช่วงเวลาประมาณ 19.00-22.00 น. หรือยืดหยุ่นตามความเหมาะสมว่าในวันนั้นๆ ถูกปลามากน้อยแค่ไหน และพบว่า การใส่เบ็ดมักจะงดเว้นวันศีล/วันพระ เนื่องจากเป็นการลดการกระทำบาปกรรมต่อสัตว์โลก และเป็นวันที่โลกของวิญญาณปล่อยผีออกมา แม้ผู้ชายจะมีความกล้าแต่ก็มีความกลัวไปพร้อมด้วย หากออกไปลำพังในวันปล่อยผีอาจเจอผีหลอกได้ ดังนั้น จึงพบการใส่เบ็ดในกิจกรรมของผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และพบอีกว่า ผู้หญิงและเด็กในอดีตจะใส่เบ็ดบ้างในช่วงของการปักดำนา (เวลากลางวัน) แต่ส่วนใหญ่ผู้หญิงจะเป็นคนจัดการปลาที่ผู้ชายใส่เป็ดได้มากกว่า การลงพื้นที่ภาคสนามสนทนากับ ลุงทัศน์ : วิเชียร ชัยโชติ สะท้อนว่า ปกติจะตัดไม้ไผ่มาเหลาทำ “คันเบ็ด” ทั้งเอาไว้ใส่เองและมีคนในหมู่บ้านมาสั่งซื้อครั้งละ 100-200 หลัง ทำเก็บไว้ไม่ได้เร่งรีบตามเวลาว่าง นอกจากใส่เบ็ดก็ไปใส่ “บั้งลัน” ใส่ปลาไหลด้วย
เทคนิคเครื่องมือและการเลือกพื้นที่ใส่เบ็ด
น้าต่อ (นามสมมติ) ไปรับเบ็ดที่สั่งจากลุงทัศน์ไว้ 100 หลัง นำมาเผารนไฟ ทำการมัดเชือก ตะขอเบ็ดขนาดตามต้องการ การเผารนไฟจะช่วยให้ไม้ไผ่ทนทานป้องกัน “แมลงมอด” ที่ชอบกัดกินไม้ไผ่ พบอีกว่า วันนี้น้าต่อจะไปใส่เบ็ดที่ทุ่งนาหลังตลาด เพราะมีงานที่จะต้องไปรับจ้างที่ฟาร์มไก่ โดยใช้เวลาว่างพักผ่อนลงไปใส่เบ็ดและยามเบ็ด ขณะที่ ลุงอึ่ง : บุญมี จันทร์เทศ กล่าวว่า จะไปหาใส่เบ็ดแถวนาโคกเหมือนที่เคยไปปกติประจำ และเล่าให้ฟังว่า การทำเบ็ดแล้วแต่คนชอบ บางคนจะมัดเบ็ดใน 1 หลังมี 2 ตะขอ หรือมัดรวมเบ็ดกบไว้ในหลังเดียวกันก็มี ขนาดของตะขอที่ใช้แล้วแต่ว่าจะชอบแบบไหน ตะขอขนาดพอดีสามารถใส่ปลาได้ทุกชนิด
ลัดเลาะ “คันแทนา” ลงไปใส่เบ็ด
ผู้เขียนลงไปใส่เบ็ดกับลุงอึ่ง สังเกตเห็นว่า แกถือถังสีชมพูหวานแหว๋วภายในมีไส้เดือนที่ขุดมาจากหลังบ้าน “ทุกวันนี้หาไส้เดือนยาก เพราะคนใช้สารเคมีเยอะ แต่ก่อนขุดในนาเต็มไปหมด แต่ทุกวันนี้ไม่มีแล้ว” ระหว่างเดินไปก็สังเกตไปและเห็นว่า ลุงอึ่งชำนาญในการเสียบไส้เดือนใส่เบ็ดอย่างยิ่ง หลังจากเสียบเบ็ดแกจะแหวกต้นข้าวและหญ้าข้างคันนาปักคันเบ็ดลง หากได้ “ปลาเข็ง” (ปลาหมอนา) ตัวเล็กที่ติด แกจะปักไว้ต่อให้เป็นเหยื่อล่อปลาช่อนตัวใหญ่ในยามค่ำคืน แกบอกว่า “ตอนหัวค่ำแบบนี้มักจะถูกปลาตัวเล็กๆ ใส่ๆ ไปก่อนไว้ล่อปลาช่อนตอนกลางคืน” นอกจากนั้น ได้สนทนากับลุงอึ่งเกี่ยวกับการเลือกใส่เบ็ด พบว่า การใส่เบ็ดของคนในชนบทเกิดขึ้นด้วยความเข้าใจกันในชุมชน ไม่มีการหวงห้ามเขตแดนที่นาใส่เบ็ดในช่วงฤดูฝน เพราะทุกคนเข้าใจดีว่าปลาที่อยู่ในทุ่งนาเป็นปลาที่มากับน้ำตามธรรมชาติ “นาและข้าวเป็นของเจ้าของที่ดิน แต่ปลาเป็นของทุกคนในหมู่บ้าน” สะท้อนให้เห็นว่า ชาวบ้านใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในทุ่งนาร่วมกันอย่างเข้าใจและไม่มีความขัดแย้ง สำหรับสระน้ำบางแห่งที่เจ้าของเลี้ยงปลาจะกั้นตาข่ายชัดเจน คนใส่เบ็ดจะไม่เข้าใกล้และไม่ลักขโมยปลาในนั้น รวมทั้งปลาที่จับได้มีการแบ่งปันให้ญาติพี่น้องในหมู่บ้านได้กินด้วยกัน
ไปใส่เบ็ดกับวัยรุ่น : ผู้เขียนติดตามวัยรุ่นไปใส่เบ็ดจะพบกับบรรยากาศ “ผู้บ่าวไทบ้าน”กิจกรรมใส่เบ็ดเป็นงานอดิเรกไม่ได้คาดหวังว่าจะได้ปลามากน้อย (ใส่สนุก) วันนี้ได้ไปใส่เบ็ดกับ เอ็ม : วัชระ สารพันธ์, ต้อม : ปิยะพงษ์ หมื่นแทน, เต้ : อภิชาต แย้มเนียม, และน้องซูกัส ทั้ง 4 คนชวนกันไปขุดหาไส้เดือนใกล้กับคอกวัวให้ได้มากพอสำหรับเบ็ดราวๆ 50 หลัง หลังจากนั้นได้พากันถือถังไส้เดือน หรือเรียกในภาษาชาวบ้านว่า “ขี้กะโลย” พร้อมกับเบ็ดไม้ไผ่ เบ็ดฝรั่ง และลำโพงบลูทูธ ที่เชื่อมต่อกับโทรศัพท์เปิดเพลงหมอลำฟังไปเรื่อยๆ หลังจากวางเบ็ดครบทั้งหมด ที่ปลายทางจะมีสระน้ำซึ่งน้ำท่วม ทำเลเหมาะสำหรับโยนเบ็ดฝรั่ง “ได้ไม่ได้ก็โยนๆ เล่นไป” กระทั่งเริ่มมืดค่ำจึงพากันเดินยามเบ็ดกลับบ้าน ผู้เขียนพบว่า การบริโภคปลาของคนรุ่นใหม่ในชนบทลดน้อยลง เมื่อเปรียบเทียบกับไก่ หมู และอื่นๆ จึงพบเห็นคนรุ่นใหม่ไม่มากนักที่จะชวนกันเดินลงทุ่งนาไปใส่เบ็ด โยนเบ็ด
ความเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตในสังคมชนบทอีสาน โดยเฉพาะการบริโภคและการประกอบอาหารที่พึ่งพาระบบตลาดส่งผลให้การหาปลาในทุ่งนาเพื่อบริโภคในครัวเรือนลดน้อยลง การเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิตข้าว การใช้สารเคมี และการอพยพของแรงงานสู่เมืองทำให้คนห่างจากท้องทุ่งนา แต่ในชนบทอีสานหลายแห่งยังคงมีวิถีการดำรงชีพแบบดั้งเดิม คือ “การใส่เบ็ด” ที่สะท้อนสังคมชนบทอีสานหลายมิติ เช่น วิถีการบริโภคที่เปลี่ยนไป ชาวบ้านหันมาใช้ระบบตลาดและการบริการอาหารที่สะดวกสบาย ทำให้การหาปลาในทุ่งนาลดลง การใส่เบ็ดเป็นวิธีการประมงพื้นบ้านที่พบเห็นได้ในชนบท วิธีที่ไม่ล้างผลาญ ไม่ทำลายระบบนิเวศ สะท้อนการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติมิติทางเพศ และความสัมพันธ์ทางสังคมที่เอื้อเฟื้อยืดหยุ่น
เรื่องและภาพโดย :พงษ์เทพ บุญกล้า นักวิชาการอิสระ ด้านภูมิภาคลุ่มน้ำโขงศึกษา