นานมาแล้วที่ประเทศไทยจำเป็นต้องพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลักในการทำเงินเข้าประเทศ เมื่อเราเจาะลึกลงไปดูที่ตัวเลขที่เป็นรายได้จากการท่องเที่ยวยิ่งทำให้ภาพของการเป็นเครื่องยนต์หลักของประเทศนั้นชัดเจนแจ่มแจ้ง ประกอบกับการคาดการและเป้าหมายของ ททท. ที่ตั้งเป้าหมายว่าปี 2567 นี้ การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวจะกลับมาสมบูรณ์ในฝั่งของรายได้ ตัวเลขนักท่องเที่ยว 40 ล้านคนที่รัฐบาลหมายมั่นปั้นมือเอาไว้สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะนำเงินมาใช้จ่ายในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมากถึง 2.5 ล้านล้านบาท เมื่อรวมกับรายได้จากการท่องเที่ยวในประเทศ ที่มีการคาดการณ์ถึงเม็ดเงินจำนวน 3.5 ล้านล้านบาท กันเลยทีเดียว ตัวเลขและการวิเคราะห์คาดการณ์เหล่านี้ มีข้อมูลออกมาให้ได้ศึกษาและทำความเข้าใจเพื่อออกแบบวางแผนในการเป็นผู้ประกอบการท่องเที่ยวได้หลากหลายรูปแบบอยู่แล้ว ทั้งจากสถานบันวิจัยด้านเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ รวมไปถึงเว็บไซต์ด้านการท่องเที่ยวที่มีการเก็บรวบรวมข้อมูลมาไว้ให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวได้ค้นหาข้อมูลใหม่ๆ อยู่เสมอ
วันนี้จึงอยากพาไปรู้จักกับจูน-ธนกัญพัชร เกษตรกรรุ่นใหม่ ที่เริ่มต้นจากการทำเกษตร ต่อยอดต้นทุนที่พ่อมอบให้ คือ ที่ดินผืนเล็กๆ ด้วยความตั้งใจที่อยากทำอะไรที่มันเข้ากับความเป็นตัวของตัวเอง และทำให้คนในครอบครัวอยู่แบบสบาย ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยก็พอ
ความตั้งใจแรกเริ่มของ ธนกัญพัชร ทิ้งโคตร หรือ จูน แห่งไร่ธารธรรม ศูนย์เรียนรู้และท่องเที่ยวเชิงเกษตรจังหวัดเลย วัย 29 ปี
เราเริ่มต้นบทสนทนากันท่ามกลางธรรมชาติในแปลงเกษตร ที่นี่ไม่ได้แตกต่างไปจากแปลงเกษตรอื่นๆ ที่เคยเห็นมาเลย แต่ จูน บอกกับผู้เขียนว่า สิ่งที่ที่นี่ทำ คือ การทำเกษตรแบบออร์แกนิก 100% เพราะจุดเริ่มต้นของการกลับมาทำเกษตรคือเรื่องของสุขภาพคุณแม่ที่ต้องการอาหารปลอดภัย อากาศที่ปลอดภัย และสามารถทำให้ร่างกายซ่อมแซมฟื้นฟูตัวเองได้ในระดับหนึ่ง
จูนเรียนจบปริญญาตรี ที่กรุงเทพฯ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เรียนจบก็กลับมาบ้าน ไม่ได้ไปทำงานที่อื่นเลย ตอนนั้นน่าจะอายุประมาณ 22 ปี แล้วก็กลับมา ตอนเริ่มต้นยังไม่ทำเป็นศูนย์เรียนรู้ค่ะ แค่คิดว่าว่าจะทำยังไงให้ที่ดินที่พ่อมีให้ เกิดมูลค่าแล้วก็เกิดคุณค่า แล้วก็เราอยู่อย่างยั่งยืนได้ด้วย ก็เลยกลายเป็นว่าก็ต้องมีผลผลิต เพราะแค่ลำไยอย่างเดียวมันไม่สามารถเลี้ยงเราได้ แล้วก็นำองค์ความรู้ที่เราไปเรียน Young Smart Farmer แล้วก็เรียนเรื่องอื่นๆ มาด้วย ทำให้พื้นที่แห่งนี้มันสามารถเกิดความยั่งยืนได้จริง
คือ เราเป็นลูกคนเดียว แล้วแม่ป่วยก็ไม่รู้ว่าจะมีเวลาอยู่กับพ่อแม่อีกนานแค่ไหน แต่จูนมีต้นทุนที่ดีค่ะ มีที่ดินตรงนี้ 26 ไร่ เป็นที่ดินที่พ่อซื้อไว้ตั้งแต่เราเกิด (ปี 2537) เราก็เลยทำที่ดินพ่อให้มันมีคุณค่า แล้วก็จะคิดว่าจะทำอาชีพเกษตรกรในที่แห่งนี้
ไข่เป็ดอารมณ์ดี ผลผลิตแรกที่ทำให้คนทั่วไปรู้จัก จูน แห่งไร่ธารธรรม
จุดเริ่มต้นที่ทำให้คนรู้จักไร่ธารธรรมแห่งนี้ คือ ไข่เป็ดอารมณ์ดี ต้องบอกก่อนว่า ที่เลี้ยงเป็ดขายอย่างแรกคือคิดว่าเลี้ยงสัตว์ง่ายกว่าปลูกต้นไม้ เราจบกฎหมายแล้วพ่อรับราชการแม่ทำธุรกิจใช่ไหมคะ เราพ่อแม่เราไม่ได้เป็นชาวไร่ชาวสวน เราไม่ได้ช่วยทำตั้งแต่เด็ก เท่ากับว่าเราเริ่มจากศูนย์เลย เราคิดว่าเลี้ยงสัตว์ง่ายกว่า แล้วอีกอย่าง คือ เราจะทำแบบเกษตรปลอดสาร มันก็ต้องมีปุ๋ยใช่ไหมคะ ปุ๋ยคอกต่างๆ เรามีลำไยมันเป็นพืชรายปี แต่ว่าเป็ดไข่มันออกไข่ทุกวัน อย่างน้อยเราก็จะมีรายได้ทุกวัน อันนี้เป็นจุดเริ่มต้นแรกเลยค่ะที่ทำให้คนรู้จักแล้วก็เป็นจุดที่ทำให้เราแบบเริ่มมาเข้าสู่เกษตรกรแบบเต็มตัวเลย
พอทำไข่เป็ดปุ๊บ ขายสดค่ะ แล้วทีนี้เราก็เจอปัญหาเหมือนเกษตรกรทุกคนเลย คือ ขายไม่ได้เพราะว่าช่วงที่ไข่เป็ดเยอะๆ ไข่เป็ดไล่ทุ่งออกมาเนี่ยขายไม่ได้เลย ราคาตกมาก ถ้าจะขายราคานั้นเนี่ยโอกาสเจ๊งสูงมาก จำเป็นต้องเรียนศึกษา หาความรู้ใหม่ๆ เริ่มจากเรียน Smart Farmer ไปเรียนแปรรูป ทุกอย่างเลย งานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ไปเรียนเพื่อที่ว่าจะเปลี่ยนไข่เป็ดเป็นสินค้าแปรรูป แล้วเราสามารถตั้งราคาสินค้าเองได้นะคะ พอเราเริ่มมีไข่เป็ดใช่ไหมคะก็จะมีการแปรรูปเป็นไข่เค็มสมุนไพร ดินสอพอง แล้วก็ทำเป็นน้ำพริกไข่เค็มค่ะ แล้วก็อย่างพวกที่ทำน้ำพริกเนี่ยก็เกิดจากการที่ต้มไข่เค็มแล้วเปลือกร้าว เลยแปรรูปเป็นสินค้า มีลำไยที่เรามีอยู่แล้วเนาะ ที่พ่อเราปลูกไว้ ก็เอามาต่อยอดทำเป็นลำไยอบแห้ง แต่ว่าไม่ใช่ว่าอยู่ๆ อยากทำนะคะ สินค้าที่ไร่จะเกิดจากปัญหาที่เจอหมดเลยค่ะ อยากทำไข่เป็ดเพราะว่ามันทำไข่เค็มราคาตกทำน้ำพริกเพราะว่าไข่เค็มเปลือกร้าว ทำลำไยอบแห้งเพราะว่าเจอโควิดค่ะ การท่องเที่ยวปิด แล้วทีนี้ลำไยที่จะให้คนมาเก็บมันขายไม่ได้และเขาล็อกดาวน์แล้วเราก็เลยทำเป็นลำไยอบแห้งแทน
แค่จะเลี้ยงเป็ด กลายเป็นท่องเที่ยวเชิงเชิงสุขภาพ
ตอนแรกหนูไม่ได้ตั้งใจจะทำการท่องเที่ยวเลย หนูก็เลี้ยงเป็ดอะไรอย่างนี้แหละค่ะแล้วก็ปลูกพืชสมุนไพร ปลูกลำไยทั่วไป แล้วปรากฏว่าเราเข้าร่วมหอการค้า YEC แล้วทีนี้เราบอกเจ้าของนกแอร์ค่ะ คุณการินมาที่ไร่ตอนนั้น มีแต่เถียงนาน้อยกับกองฟาง แล้วโรงเป็ดแค่นั้น หนูบอกแค่ว่าหนูอยากช่วยชุมชน แล้วท่านก็บอกว่าถ้าเลี้ยงแต่เป็ดอย่างนี้ช่วยคนไม่ได้ ก็ได้แค่ตัวเอง ก็เลยทำให้เราเปลี่ยนมุมมองใหม่ค่ะว่า เขาบอกว่าตราบใดที่ไม่มีคนยกภูเขากับแม่น้ำออกจากไร่ คุณสามารถทำการท่องเที่ยวได้ คุณหากินได้ตลอดชีวิตเลยเพียงแค่คุณรักษาทรัพยากรให้มันได้ ตอนนั้นก็เป็นการเบิกเนตรเราเลยค่ะเพราะว่าเราไม่คิดว่าสิ่งที่เราอยู่มาตั้งแต่เกิดมันจะมีคนสนใจ ก็กลายเป็นว่าถึงแม้ว่าไร่ของเราจะอยู่ไกล แต่ก็มีถนน คนก็เข้ามาหา แต่ตอนแรกที่ตัดสินใจทำท่องเที่ยวก็ยังไม่มั่นใจว่าจะมีใครมาเที่ยวที่ไร่เรา เริ่มจากการถ่ายรูปด้วยมือถือ โพสต์ลงในโซเซียลมีเดีย Facebook Tiktok Instagram เพื่อที่ว่าเราจะได้ไม่ต้องบาดเจ็บมาก กิจกรรมแรกที่เป็นแบบปังเลย ติดกระแส คนสนใจ คือ พิซซ่าเตาดิน กิ่งลำไยในไร่เยอะ กองเท่าภูเขาค่ะ หนูก็เลยคิดว่าถ้าเผาถ่านมันไม่ใช่ไม้มะขาม กระสอบนึงได้ไม่ถึง 300 บาท จะทำยังไงให้มันเกิดมูลค่ามากกว่านั้น เลยเอากิ่งลำใยมาเป็นฟืนทำพิซซ่าแทน
Creative economy
เอาหลักการ Creative economy หรือ เศรษฐกิจสร้างสรรค์มาใช้ ที่เขาบอกว่าไม่ต้องใช้เครื่องจักรที่มันแบบแพงๆ แต่ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการนำเสนอใหม่ๆ ให้มันเข้าถึงง่าย หนูก็เลยมองในเรื่องของกิจกรรมแล้วก็การท่องเที่ยวให้มันได้มูลค่าสินค้าเกษตรมากกว่านั้น หนูทำพิซซ่าเตาดิน ต้องบอกก่อนว่าท้าทายมาก จูนเปิดคาเฟ่ก่อนโควิด 6 เดือนค่ะ วันนั้นก็แบบทุกๆ เสาร์-อาทิตย์ พิซซ่าวันนึง 100 ถาดค่ะ พิซซ่าที่ได้จับบัตรคิวเลย แล้วทีนี้พอเจอโควิดปุ๊บปิดสวิตช์ปุ๊บ เราก็ค่อนข้างเป๋เหมือนกัน เพราะเราค่อนข้างเป็นน้องใหม่กับการท่องเที่ยว แต่ตอนนั้นที่คิดได้ คือ จะทำยังไงให้พิซซ่าไม่ต้องให้คนมาหาแต่เราสามารถทำเป็นเดลิเวอรี่ส่งได้ คือ เราต้องรอดตอนนั้นที่คิดได้ พอเราโดนปราบเซียนจากการท่องเที่ยว จูนก็เลยรู้สึกว่าจะต้องมีการออกแบบกิจกรรมให้มันมากขึ้นด้วย
พอเริ่มเป็นการท่องเที่ยวแล้วก็เป็นศูนย์เรียนรู้ จูนก็จะมีการแบ่งเลยค่ะ กระบวนการต้นน้ำ ก็คือ ขายของสดค่ะ ของที่ไร่เราก็จะแบ่งในเรื่องของ Part ของเกษตร แล้วก็ของการแปรรูป และการท่องเที่ยวค่ะ ของเกษตรโดยตรงจะเป็นพวกผักต่างๆ ของจูนผักจะปลูกเป็นพวกผักเคล จิงจูฉ่าย เป็นพืชที่ต้านมะเร็ง แล้วก็สินค้าแปรรูป จะเป็นพวกน้ำพริกต่างๆ ภาคบริการจะมีเป็นศูนย์เรียนรู้ คือ เวลาคณะมาดูงานจะเป็นฐานกิจกรรม ค่าสถานที่ ข้าว บรรยาย การจัดเบรก เมนูอาหารต่างๆ ซึ่งเวลาจัดเมนูอาหารอะไรเวลาคนมา 200 คนใช่ไหมคะ จากที่เราต้องไปขายของตลาด เอาผักไปขาย ใส่ตะกร้า แต่เรารู้แล้วว่าคนจะมา 200 คน มะเขือต้องใช้กี่กิโลกรัม แตงกวากี่กิโลกรัม ผักกี่กิโลกรัม แล้วมูลค่ามันก็สูงมากขึ้นด้วยค่ะ
วิถีท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เน้นลูกค้ากลุ่มเฉพาะ
จุดยืน คือ ให้ลูกค้าที่มาเยือนสวนเกษตรได้กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ อาหารปลอดภัย รู้ที่มาของวัตถุดิบ เป็นที่เสริมปอด ให้กับคนในเมืองเลย เพราะว่าที่ไร่ห่างจากอำเภอเมืองเลย แค่ประมาณ 18 กิโลเมตร คิดแค่นั้นเลยค่ะ แล้วทีนี้ปรากฏว่าพอเรามีจุดยืนที่อยากจะให้คนได้ทานของดีมันก็จะเหมือนมีสิ่งดีๆ กลับมาหาเราเองค่ะ อย่างชื่อไร่ที่เราทำเป็นโซนคาเฟ่ ใช้ชื่อธารธรรมฟาร์มาเดะ ธารธรรมฟาร์มาเด้อ ฟาร์มา มันคือเป็นยา ก็คือตั้งใจตั้งแต่แรกคืออยากจะทำอาหารให้เป็นยา แต่ตอนนั้นได้แค่คิดเฉยๆ แต่ไม่ได้ทำอะไรจริงจังมาก พอหลังโควิดปุ๊บมันทำให้เราได้มีเวลาหาข้อมูลมากขึ้นแล้วก็เทรนด์ผู้บริโภคเปลี่ยนไปแบบคนละอย่างกันเลย เมื่อก่อนเด็กๆ มาทำกิจกรรม มาทำพิซซ่า มาวิ่งเล่น มาหาธรรมชาติ พอหลังโควิดปุ๊บ กลายเป็นว่ากลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มคนป่วย หรือ กลุ่มวัยรุ่นที่รักสุขภาพ มาเยอะขึ้นมากเราก็เลยต้องคิดว่าเราต้องหาองค์ความรู้ขึ้นกว่าเดิม เพื่อที่ว่าคนที่มาจะได้รับประโยชน์เชิงลึก
สิ่งที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพต้องรู้
อย่างแรกจูนว่าต้องมองสิ่งที่เรามี แล้วต้องเสริมภูมิคุ้มกัน เพราะตราบใดที่เราจะทำเป็นสถานประกอบการ เราต้องมีองค์ความรู้เชิงลึกมากกว่าทำกินในครัวเรือน เราก็เลยไปเรียนทั้งกรมการแพทย์แผนไทย เรียนโภชนศาสตร์ แล้วก็รู้จักพืชสมุนไพรให้เชิงลึกมากขึ้น แล้วก็รู้ว่าภูมิปัญญาของไทยอีสานเนี่ยมันมีข้อดี ข้อเสียยังไง
พอเป็นท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เราก็ต้องมีการตรวจประเมินว่า เราครบเงื่อนไขไหม อย่างแรกคือไม่มีการใช้สารเคมี แล้วก็มีพืชต่างๆ ที่เป็นสมุนไพร หลักๆ ที่เขาอยากจะให้เป็นสุขภาพแล้วก็ผักที่ปลอดสารเคมี เราเอามานำเสนอหรือว่ามาทำปรุงประกอบอาหารเพื่อสุขภาพ ส่วนใหญ่การท่องเที่ยวสุขภาพเมื่อก่อนจะเป็นแค่สปาอย่างเดียว การสปา นวด ประคบ แต่ตอนนี้มันมีมิติในเรื่องของการลงมือทำกิจกรรมขายของที่ไร่ ถ้าเป็นอาหารเป็นยาก็จะเป็นกิจกรรมบุษบาห่มรักเก็บผักมาทำอาหาร ประเภทผักแป้น ผักแพว ผักต่างๆ ที่เอามาเป็นผักพื้นบ้าน เอามานำเสนอใหม่เอามาทำสลัดโรล ใช้ดอกไม้ทานได้ ให้เกิดประโยชน์ ให้มันมีกิจกรรม เมนูอาหารต้องรู้ที่มาของวัตถุดิบ ไม่ใช่ว่ากินแล้วแบบสุขภาพดี สุขภาพดีแล้วยังไงต่อคือคำว่าท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมันจะเป็นเชิงลึกมากกว่าแค่อิ่ม
กินอาหารที่ไร่ กินแบบ mindful eating
เรารู้สึกว่าเราไม่ใช่แค่อยากจะขายได้เงิน เรารู้สึกว่าคนมาแล้วมันต้องได้ประโยชน์มากกว่านั้น เราไม่รู้ว่าโควิดจะกลับมาอีกเมื่อไหร่ แต่อย่างน้อยอาหารที่เราทำ มันสามารถเสริมภูมิคุ้มกันให้กับคนมาเที่ยวที่ไร่ ในการเสิร์ฟเมนูอาหารของเราอย่างเช่น เมี่ยงปลาสมุนไพร เราจะเล่าให้ลูกค้าฟังหมดเลยค่ะว่าใช้สมุนไพรอะไรบ้าง เช่น ตะไคร้ ขิง หอมแดง พริก ก็จะเหมาะกับคนที่มีธาตุลม ธาตุน้ำ แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อแล้วก็จานนึงกินได้ประมาณ 2 คนนะ ถ้าสมมุติว่าคุณมา 4 คน สั่งอาหารไม่ควรเกิน 5 อย่าง คนมาแล้วต้องเคารพเกษตรกรผู้ปลูกเหมือนกัน เพราะว่าเราเข้าใจทั้งคนมากินข้าว แล้วก็เข้าใจทั้งเกษตรกรว่ากว่าจะปลูกผักปลอดสารได้แต่ละต้นน่ะมันมีความลำบากแค่ไหน เราก็เลยอยากจะให้เขาเห็นคุณค่า เขาเรียกว่า mindful eating ค่ะ กินอย่างมีสติ
ไร่ธารธรรม wellness destination แห่งแรกใน จ.เลย
ปัจจุบันไร่ธารธรรม ได้พัฒนาต่อยอด และยกระดับของการเป็นผู้ประกอบการท้องถิ่นที่เดิมทำเพียงการเกษตร จนมาถึงการเป็นจุดหมายปลายทางของคนรักสุขภาพเพียงแห่งเดียวที่มีการรับรองมาตรฐานใน จ.เลย ถือเป็นก้าวสำคัญของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ที่กำลังมีทิศทางและเทรนด์การเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เราภูมิใจมากๆ คือ เราเป็น wellness destination เป็นสถานที่รองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในการทำอาหารสุขภาพ อาหารเป็นยา ที่เป็นโถที่เห็นกันเราใช้ผลไม้ ในพื้นถิ่น พวกบักเก็น คนอีสานจะรู้กันรสชาติเปรี้ยวๆ หมากเม่า หมากหม่อน มะขามป้อม เราเห็นหลายคนมีปัญหาเรื่องกัดเหวหรือว่าปัญหาเรื่องระบบลำไส้ ระบบย่อย เพราะว่าลำไส้เป็นสมองที่ 2 ของร่างกายและถ้าเราลำไส้สะอาด โอกาสที่เราจะเป็นมะเร็งหรือว่าโรคเครียดอะไรต่างๆ มันก็จะน้อยลง ตอนแรกจะทำน้ำสลัดแล้วไม่อยากใส่น้ำส้มสายชู เพราะหนูแพ้น้ำส้มสายชู ก็เลยบอกแม่ว่าจริงๆ เราทำไซเดอร์เองได้นะแม่ เราใช้ผลไม้ในไร่ ในสวนผลไม้รสเปรี้ยวแล้วก็ใช้แค่น้ำตาลทรายแดง เราขอให้สะอาดแม่ก็ชวนทำ ก็ทำใส่น้ำสลัดปรากฏว่าลูกค้าก็สนใจน้ำสลัด แล้วทีนี้คนก็ถามว่าทำไมไม่ใส่น้ำส้มสายชู ทำจากอะไร แล้วเขาเห็นโถหมักแม่แบบเยอะมาก แล้วเขาก็บอกว่ามีปัญหาระบบลำไส้เหมือนกัน ก็เลยว่า เออ มันทำยังไงขอซื้อได้ไหม ก็เลยได้ขายค่ะ อันนี้คือจุดเริ่มต้นเลย คือ เราทำไว้กินเองแล้วก็ไว้ใช้ในครัวใช้ ในคาเฟ่แล้วทีนี้ปรากฏว่าพอคนสนใจมากขึ้นก็คิดว่าจะต่อยอดให้ไอ้โถที่หมักให้คนเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้นตอนนี้กระแสโพไบโอติก ทุกคนจะเห็นเยอะมากแต่จริงๆ แล้ว ภูมิปัญญาอีสานก็มีนะคะพวกโพไบโอติกหรือไซเดอร์อะไรพวกนี้ อย่างพวกข้าวหมากก็ใช่ แล้วบางคนที่เป็นเบาหวานเขากินแป้งเยอะไม่ได้ จูนก็เลยทำยังไงที่ว่าคนมาแล้ว เขาเอาไปทำที่บ้านเองได้ บางทีคุณไม่ต้องมาซื้อเรานะคุณรู้วิธีการทำแล้วคุณเอาไปทำในครัวเรือนได้ เพราะว่าจุดยืนของเราไม่ใช่แค่ว่าจะขายให้มันรวยจากตรงนี้แต่เราอยากทำให้คนสุขภาพดีมากกว่า
กลับมาที่โจทย์สำคัญของการสร้างที่นี่ คือ หนุนเสริมชุมชน เดินไปพร้อมๆ กันอย่างไร
ตั้งแต่เราทำเป็นศูนย์เรียนรู้ ต้นน้ำเมื่อก่อนทำ 100% คิดว่าไม่มีใครทำได้เหมือนเราแต่จริงๆ แล้วไม่ใช่คือ ถ้าเราเจ๋งจริงหรือว่าถ้าเรามีองค์ความรู้มากพอเราต้องแบ่งปันองค์ความรู้นี้ให้เขาเป็น creator เหมือนกับเรา ทุกวันนี้ต้นน้ำเราแค่ 50% นะคะอีก 50% ก็คือมาจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จูนจดกลุ่มวิสาหกิจชุมชนช่วงโควิดเลย เรารับคณะทุกวันก็จะแบบบอกเลยค่ะว่าอาทิตย์นี้หนูใช้ผักเท่านี้ 1 2 3 4 5 เขาก็จะเตรียมไว้สำหรับคนที่ยังไม่สามารถทำปลายน้ำเหมือนเราได้เขาก็จะเอามาส่งอะไรอย่างนี้ค่ะ อย่างมะนาวหรือว่าสมุนไพร ก็จะเป็นกลุ่มคุณลุงคุณป้าที่เขามีสวนยางเขาก็จะปลูกสมุนไพรไว้หลังบ้านหนูก็บอกว่าขอให้ปลอดสารไม่สวยไม่เป็นไรหนูรับซื้อ แต่เราจะให้สิทธิ์คนที่เป็นสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจเราก่อน เพื่อเป็นการเกื้อกูล ถามว่าจะมีการเติบโตเชิงลึกไหมตอนนี้ก็คิดว่าในอนาคตประมาณปีถึง 2 ปีก็จะเริ่มขยายตลาดให้กว้างมากขึ้นเพราะว่าเริ่มมีคนเข้าใจในบริบทของอาหารเป็นยาแล้วในกลุ่มของเรา