หนองกุดทิง เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญและมีความหลากหลายทางชีวภาพอีกแห่งหนึ่งของ จ.บึงกาฬ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ เป็นลำดับที่ 1,926 เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2552 โดยพื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิง (หนองกุดทิง) เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีสำคัญระหว่างประเทศ (Ramsar Site) ตามอนุสัญญาว่าด้วยการคุมครองพื้นที่ชุ่มน้ำ (Ramsar Convention) อยู่ในเขตตำบลโคกก่อง ตำบลโนนสมบูรณ์ ตำบลบึงกาฬ อำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ มีพื้นที่รวมประมาณ 13,750 ไร่ มีลักษณะเป็นกุด (Oxbow lake) ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศใต้ประมาณ 5 กิโลเมตร
‘กุดทิง’ มีระบบนิเวศที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำโขง จึงมีความหลากหลายทางชีวภาพ คุณภาพในพื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิง พบว่า อยู่ในเกณฑ์ดีและจัดอยู่ในมาตรฐานคุณภาพน้ำผิวดินประเภทที่ 2 สามารถใช้ประโยชน์เพื่อการอุปโภคและบริโภค แต่ต้องผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพน้ำก่อน และเพื่อการอนุรักษ์สัตว์น้ำ การประมง การว่ายน้ำและกีฬาทางน้ำ
หนองกุดทิง พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความหลากหลายของพืช สัตว์
การบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิง มีหน่วยงานรับผิดชอบตามอำนาจหน้าที่ร่วมกัน ได้แก่ เขตห้ามล่าสัตว์ป่ากุดทิง กรมประมง และองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นต้น ส่วนทรัพยากรธรรมชาติในเขตพื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิงนั้น พบพรรณไม้ 259 ชนิด จาก 214 สกุล 86 วงศ์ พบสัตว์ป่า อย่างน้อย 5 ชนิด ซึ่งเป็นชนิดที่มีความสำคัญต่อการจัดสถานภาพพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ จำพวกนกพันธุ์ต่างๆ กว่า 40 ชนิด ได้แก่ เป็ดดำหัวสีน้ำตาล (Aythya nyroca) และนกกระสาแดง (Ardea purpurea) สัตว์เลื้อยคลาน ได้แก่ งูจงอาง Ophiophagus Hannah ตะพาบน้ำ Amyda cartilaginea และเต่านาอีสาน Malayemys subtrijuga พบปลาทั้งสิ้น 80 ชนิด จาก 24 วงศ์ พบปลาที่ติดสถานภาพของ IUCN Redlist of Threatened Species (2016) และสถานภาพของ Thailand red data: Fishes (Vidthayanon, 2005) จำนวน 12 ชนิด จำแนกเป็น
พบพันธุ์ปลาเฉพาะถิ่นของประเทศไทย 3 ชนิด
ชนิดที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ (CR-Critically endangered species) จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ ปลาบึก Pangasianodon gigas และปลาบัว Osteochilus schlegeli ชนิดที่ใกล้การสูญพันธุ์ (EN-Endangered species) จำนวน 4 ชนิด ได้แก่ ปลายี่สก Probarbus jullieni ปลาเอิน Probarbus labeamajor ปลานวลจันทร์น้ำจืด Cirrhinus microlepis และปลาสวาย Pangasianodon hypophthalmus และชนิดที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์ (VU-Vulnerable species) จำนวน 4 ชนิด ได้แก่ ปลาแขยงธง Heterobagrus bocourti ปลาดุกด้าน Clarias batrachus ปลาดุกอุย Clarias macrocephalus และปลาจิ้มฟันจระเข้แคระ Indostomus spinosus ชนิดที่เกือบอยู่ในข่ายเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (NT-Near Threatened) จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ ปลาแค้ควาย Bagarius yarrelli และปลาเค้าขาว ชนิดพันธุ์ประจำถิ่น (Endemic species) พบปลาเฉพาะถิ่นของประเทศไทย 3 ชนิด ได้แก่ ปลาซิวแคระสามจุด Boraras micros ปลาบู่กุดทิง Neodontobutis aurarmus และปลาบู่แคระ Brachygobius mekongensis
สร้างเศรษฐกิจชุมชนมากกว่า 161.03 ล้านบาท/ปี
นอกจากนี้ พื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิง ยังเป็นแหล่งธรรมชาติที่มีคุณค่าด้านการใช้ประโยชน์สำหรับชุมชน ทั้งด้านการประมง โดยจัดเป็นแหล่งประมงปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ของบึงกาฬ ยังมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว ด้านการพัฒนาปศุสัตว์ เนื่องจากเป็นแหล่งพืชอาหารและพืชน้ำที่อุดมสมบูรณ์เหมาะสำหรับการเลี้ยงโค กระบือแบบธรรมชาติ รวมถึงเป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรสำหรับปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าว (ทั้งนาปีและนาปรัง) มะเขือเทศ แตงโม เป็นต้น
ปัจจุบันพื้นที่โดยรอบบางส่วนมีการทำสวนยางพารามากขึ้น มีครัวเรือนได้รับประโยชน์จากกุดทิงประมาณ 2,556 ครอบครัว รายได้เฉลี่ยครัวเรือนละ 63,000 บาท/ปี คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมเท่ากับ 161.03 ล้านบาท/ปี
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ศูนย์อนุรักษ์และจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, วิทยาลัยนวัตกรรมบึงกาฬ (ศูนย์การศึกษาบึงกาฬ) มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี
ภาพจาก : กระติ๊บบาย Home Studio